วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ข้อมูลทั่วไป
บังกลาเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมีพรรคสำคัญ ๒ พรรค คือพรรค Bangladesh National Party (BNP) นำโดยนาง Khaleda Zia และพรรค Awami League (AL) นำโดยนาง Sheikh Hasina ทั้งสองพรรคได้ผลัดกันขึ้นเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านตลอดมา มีความขัดแย้งกันสูง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะพยายามที่จะหาทางทำลายชื่อเสียงเพื่อโค่นล้มอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่การนำการประท้วง การโจมตีโดยใช้สื่อต่างๆ นอกจากนี้ ความขัดแย้งยังนำไปสู่ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของชาติ โดยเมื่อฝ่ายตรงข้ามได้รับเลือกตั้ง นโยบายหรือโครงการที่อีกฝ่ายริเริ่มดำเนินการ ก็จะถูกละเลยหรือถูกยกเลิกไป ซึ่งเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ และความเชื่อมั่นของนานาชาติ
ฝ่ายตุลาการ
บังกลาเทศใช้ระบบศาลแบบอังกฤษ โดยมีทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา โดยมีศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุด ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ Appellate Division และ High Court Division และยังมีศาลระดับล่าง ได้แก่ district courts, thana courts และ village courts นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษอื่นๆ เช่น ศาลครอบครัว และศาลแรงงาน เป็นต้น
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
ดินแดนที่เป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (อินเดีย) เคยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาก่อน ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่จนชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาจนถึงทุกวันนี้
ในปี ๒๓๐๐ อังกฤษได้เข้ายึดครองชมพูทวีป และดินแดนแห่งนี้ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกือบ ๒๐๐ ปี ต่อมาในปี ๒๔๙๐ ดินแดนแถบนี้ได้รับเอกราช แต่บังกลาเทศก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน เรียกกันว่าปากีสถานตะวันออก ต่อมาชาวเบงกาลีในปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง ซึ่งอยู่ในปากีสถานตะวันตก เนื่องจากถูกแสวงหาประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก นอกจากนี้ ปากีสถานทั้งสองยังมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรมและเชื้อชาติอีกด้วย ชาวเบงกาลีจึงจัดตั้งพรรค Awami League (AL) ขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๒ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวเบงกาลี โดยมี Sheikh Mujibur Rahman เป็นหัวหน้า
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๔ ปากีสถานตะวันออกได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ทำให้ปากีสถานตะวันตกส่งกองกำลังทหารเข้าปราบปราม อินเดียได้ส่งทหารเข้าไปช่วยเหลือปากีสถานตะวันออก ในที่สุดฝ่ายปากีสถานตะวันตกพ่ายแพ้ และยินยอมให้เอกราชแก่บังกลาเทศ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๔ มีนาย Sheikh Mujibur Rahman หัวหน้าพรรค AL ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ โดยเป็นประมุขของรัฐและฝ่ายบริหารคนแรก (Father of the Nation)
พัฒนาการทางการเมืองของบังกลาเทศภายหลังเอกราช
ประธานาธิบดี Sheikh Mujibur Rahman ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๑๘ โดยฝีมือนายทหารกลุ่มหนึ่ง การปกครองในระยะแรกนี้มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง และมีการลอบสังหารประธานาธิบดีจนเสียชีวิตหลายคน สถานการณ์ทางการเมืองของบังกลาเทศตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสายและเป็นการปกครองโดยผู้นำทางทหารตลอดมากว่า ๒๐ ปี
พลโท Hussain Mohammad Ershad ประธานาธิบดี (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี ๒๕๒๕ – ๒๕๓๓) ได้ถูกฝ่ายค้านกดดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประธานาธิบดีไปให้นายกรัฐมนตรี พลโท Ershad ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ๒๕๓๓ และถูกจำคุกในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง
ในปี ๒๕๓๓ บังกลาเทศได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็นครั้งแรก โดยผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) นำโดยนาง Khaleda Zia ได้รับชัยชนะ และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปี ๒๕๓๕ นาง Khaledia Zia ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง และเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๙ ประธานาธิบดีบังกลาเทศได้ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวัน ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๙ ภายหลังความวุ่นวายจากการประท้วงของพรรคฝ่ายค้านซึ่งประกอบด้วยพรรค Awami League พรรค Jatiya Party (JP) และพรรค Jamaat-e-Islami (JI) ที่ต้องการให้นาง Khaleda Zia ลาออก ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฝ่ายค้านได้รับชัยชนะและนาง Sheikh Hasina หัวหน้าพรรค AL (บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี Sheikh Mujibur Rahman ) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลผสมครั้งแรกของบังกลาเทศ ระหว่างพรรค AL และพรรค JP ที่มีพลโท Ershad อดีตประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าพรรค และได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ แต่ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๔๐ พรรค JP ได้ถอนตัวออกจากรัฐบาลและเข้าเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านกับพรรค BNP
ตามรัฐธรรมนูญของบังกลาเทศ คณะรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๕ ปี ดังนั้น ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔ รัฐบาลของนาง Sheikh Hasina จึงได้หมดวาระลง และเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้ประกาศยุบสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ต่อมา เมี่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ รัฐบาลของนาง Sheikh Hasina ได้ถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลรักษาการซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน ๙๐ วัน ในการนี้ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้แต่งตั้ง Justice Latifur Rahman อดีตหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ดำรงตำแหน่ง Chief Advisor ของรัฐบาลรักษาการหรือเทียบเท่านายกรัฐมนตรี โดยนาย Latifur Rahman ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Shahabuddin Ahmed ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา (Council of Advisors) จำนวน ๑๐ คน ตามคำแนะนำของนาย Latifur Rahman เพื่อปฎิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ พรรค BNP ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและ นาง Khaleda Zia ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ เเละได้สิ้นสุดวาระลงเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๙
สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๘)
นาง Sheikh Hasina (ชีค ฮาสินา) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒
บังกลาเทศมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ หลังจากที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลรักษาการโดยการสนับสนุนของกองทัพมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๐ พรรค AL ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเหนือพรรค BNP และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคการเมืองอื่นอีก ๓ พรรค คือ Jatiya Party พรรค Jatiya Samajtantrik Dal (JSD) และพรรค Workers’ Party โดยมีนาง Sheikh Hasina (ชีค ฮาสินา) หัวหน้าพรรค AL เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ของบังกลาเทศเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๒ (สมัยแรก ระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๔) คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีจำนวน ๓๒ คน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรค AL และมีสตรีถึง ๕ คน รวมถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นับเป็นคณะรัฐมนตรีที่เล็กและมีจำนวนสตรีมากที่สุด โดยรัฐบาลของนาง Sheik Hasina ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะนำประเทศกลับสู่ความสงบเรียบร้อย และอยู่ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมาย นอกจากนั้น จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น หลังจากที่ประเทศตกอยู่ภายในสภาวะการณ์ของความไม่แน่นอนมาเป็นเวลากว่า ๒ ปี
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นาย Zillur Rahman (ซิลลู ราห์มาน) ได้ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ ๑๙ ของบังกลาเทศ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญบังกลาเทศกำหนดให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยรัฐสภาและมีวาระของการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี นอกจากบทบาทในการเป็นประมุขของประเทศแล้วประธานาธิบดีบังกลาเทศยังมีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ เช่น มีอำนาจออกกฎหมายในกรณีที่จำเป็น ให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายด้านการเงินทุกฉบับก่อนที่จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และแต่งตั้งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ เป็นต้น
นาง Sheikh Hasina (ชีค ฮาสินา) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ ๓
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของบังกลาเทศได้ประกาศให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นภายใน ๙๐ วัน ก่อนรัฐสภาพ้นวาระ อย่างไรก็ดี ก่อนการประกาศดังกล่าวเพียง ๓ วัน นางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรี ได้ปรับคณะรัฐมนตรีทั้งชุด (ก่อนครบวาระบริหารประเทศในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๗) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายค้าน ส่งผลให้หลังกำหนดวันเลือกตั้ง นาย Mirza Fakhrul Islam Alamgir รักษาการเลขาธิการพรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) แกนนำพรรคฝ่ายค้านร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านรวม ๑๘ พรรค คัดค้านการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ (Hartal) เป็นระยะ ๆ เพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก และให้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่เป็นกลางเพื่อกำกับดูแลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นให้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ความตึงเครียดทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๑๕ คน จากการปะทะระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้ชุมนุมที่คัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ก่อนการเลือกตั้ง และในวันเลือกตั้งมีผู้เสียชีวิต ๑๘ คน และบาดเจ็บกว่า ๓๐๐ คน จากเหตุความไม่สงบทั่วประเทศเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การที่พรรคฝ่ายค้าน ๑๘ พรรค ประท้วงการเลือกตั้งและไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ทำให้พรรค AL ของนางชีค ฮาสินา และพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ส่งผู้สมัครเพียงพรรคเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ได้รับเลือกตั้งแต่ก่อนกำหนดเลือกตั้งจริง ๑๕๓ ที่นั่ง โดยไม่มีคู่แข่งเนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งของบังกลาเทศไม่มีข้อกำหนดเรื่องจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งขั้นต่ำ กรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ พรรค AL จึงชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเป็นจำนวน ๒๓๒ ที่นั่งจากจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมด ๓๐๐ ที่นั่ง ตามด้วย พรรค Jatiya (Ershad) ๓๓ ที่นั่ง พรรคแรงงาน ๖ ที่นั่ง พรรค Jatiyo Samajtantrik Dal ๕ ที่นั่ง ที่เหลือเป็นพรรคขนาดเล็กและผู้สมัครอิสระ ๑๖ ที่นั่ง ที่เหลืออีก ๘ เขตจะมีการเลือกตั้งซ่อมหลังจากเกิดความวุ่นวายขึ้น
รัฐบาลชุดปัจจุบันของบังกลาเทศได้แถลงนโยบายว่า จะนำประเทศกลับสู่ความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมาย แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพิ่มการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระบวนการประชาธิปไตย นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน “People’s Empowerment and Development” model ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติเมื่อปี ๒๕๕๕
พรรค Bangladesh Nationalist Party (BNP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๑ ปีของการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๕๗ ผู้แทนพรรคฝ่ายค้านหลายรายถูกรัฐบาลควบคุมตัวเพื่อสกัดกั้นการประท้วง ทั้งนี้ ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้กักกันตัวนาง Khaleda Zia หัวหน้าพรรค BNP ที่บริเวณสำนักงานพรรค BNP ส่งผลให้เกิดการปะทะกัน และเกิดความรุนแรงขึ้นในกรุงธากาและบางพื้นที่ของประเทศ นาง Khaleda Zia ประกาศเรียกร้องให้สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านปิดกั้นเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๘ เกิดกรณีผู้ชุมนุมปาระเบิดขวดบริเวณห่างจาก สอท. ณ กรุงธากา ประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตร นอกจากนี้ รถบรรทุกเช่าของบริษัท CP ถูกเผาโดยผู้ชุมนุม และบริษัทถูกข่มขู่ว่า จะขัดขวางการส่งสินค้า ต่อมา นาง Khaleda Zia ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๑๙ ม.ค. ๒๕๕๘
สถานการณ์ก่อการร้าย (2558 – 2559)
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารคนบังกลาเทศและชาวต่างชาติในบังกลาเทศมากกว่า 40 ราย โดยหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558-2559 ส่วนใหญ่คนร้ายจะใช้มีดสปาร์ตาฟันเข้าบริเวณท้ายทอยจนกระทั่งเหยื่อเสียชีวิต ยกเว้นบางกรณีที่ใช้วิธีปาระเบิด (ช่วงประกอบพิธีศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คนและบาดเจ็บกว่า 100 คน) และใช้อาวุธปืน (กรณีการสังหารชาวอิตาลีและญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2558 เป็นต้น)
ผู้จัดพิมพ์ ผู้โฆษณาและนักเขียนบล็อกเกอร์ชาวบังกลาเทศที่สนับสนุนแนวคิด ฆราวาสนิยม (secularism) เสรีนิยม (liberalism) และ อเทวนิยม (atheism) เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ตกเป็นเหยื่อ นอกจากนั้นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้ขยายเป้าสังหารไปสู่ผู้ไม่เชื่อในศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ตลอดจน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามกลุ่มมุสลิมติดอาวุธรุนแรง โดย SITE Intelligence Group (องค์กรติดตาม ตรวจสอบ และให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง) เผยแพร่รายงานว่า กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (Islamic State in Iraq and Syria - ISIS) ได้อ้างความรับผิดชอบการสังหารบุคคลจำนวนมากในบังกลาเทศ
ระหว่างวันที่ 11 -17 มิถุนายน 2559 รัฐบาลบังกลาเทศได้เริ่มปฏิบัติกวาดล้างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธครั้งใหญ่ โดยสามารถจับกุมบุคคลต่าง ๆ ได้มากถึง 11,000 คน และในจำนวนนี้ คาดว่า 151 คนมีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่ม Jama’atul Mujahideen Bangladesh และอีก 43 คนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธอื่น ๆ
เหตุการณ์จับตัวประกันเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559
เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2559 คนร้ายจำนวน 7 คนได้เข้าไปในร้านอาหารและเบเกอรี่ Holey Artisan Bakery ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัยของคณะทูตและชาวต่างชาติ โดยคนร้ายจับคนที่อยู่ในร้านเป็นตัวประกันเป็นชาวต่างชาติประมาณ 20 คน และชาวบังกลาเทศประมาณ 25 คน ฝ่ายทหารได้สนธิกำลังและเข้าควบคุมการปฏิบัติการ ในช่วงเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 โดยมีตัวประกันรอดชีวิตทั้งสิ้น 13 คน (ชาวญี่ปุ่น 1 คน ศรีลังกา 2 คน และบังกลาเทศ 10 คน) การปฎิบัติการส่งผลให้มีคนร้ายเสียชีวิต 6 ราย อีก 1 รายถูกควบคุมตัวไปสอบสวน และในสถานที่เกิดเหตุพบศพตัวประกันจำนวน 20 คน ประกอบด้วยชาวอิตาลี 9 ราย ญี่ปุ่น 7 ราย อินเดีย 1 ราย บังกลาเทศ 2 ราย และอเมริกัน-บังกลาเทศ 1 ราย โดยกลุ่ม Islamic State (IS) อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุดังกล่าว
ด้านเศรษฐกิจ
แม้บังกลาเทศจะเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเป็นแหล่งทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล และเป็นตลาดสินค้า อุปโภคบริโภค และการบริการที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าภาคธุรกิจบริการจะทำรายได้ให้กับบังกลาเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๕๐ ของ GDP แต่ประชาชนบังกลาเทศส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน และประกอบอาชีพเกษตรกร
รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายมุ่งเน้นเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (economic freedom) โดยใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติในลักษณะ joint venture รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ กระตุ้นการส่งออกโดยเฉพาะสิ่งทอไปต่างประเทศ (บังกลาเทศมีสินค้าส่งออกไม่หลากหลาย ร้อยละ ๗๖ เป็นสินค้าสิ่งทอและปอ) และส่งเสริมให้แรงงานไปทำงานในต่างประเทศ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร อุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ อาทิ การสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ (โดยเฉพาะในอ่าวเบงกอล) ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการก่อสร้าง การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้า เครื่องหนัง อุตสาหกรรมเบา ด้านบริการต่าง ๆ และการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน
รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ วิสัยทัศน์ “Vision ๒๐๒๑: In Quest of a Happy, Prosperous and Inclusive Bangladesh” ซึ่งแบ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวออกเป็น ๒ ช่วง คือ ระยะกลางภายในปี ๒๕๕๖ และระยะยาวในปี ๒๕๖๔ มุ่งเน้นการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดภาวะอัตราความยากจน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค และพัฒนาให้บังกลาเทศกลายเป็น middle-income country นอกจากนี้ ภาคเอกชนบังกลาเทศมีวิสัยทัศน์ “Bangladesh ๒๐๓๐ : Strategy for growth” ซึ่งมุ่งหวังว่า ภายในปี ๒๕๗๓ บังกลาเทศจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ ๓๐ ของโลก มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อประชากรสูงกว่า ๒,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ นโยบายทั้งสองสนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก และเปรียบเสมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลักของประเทศ
ด้านการต่างประเทศ
รัฐบาลบังกลาเทศได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบมุ่งตะวันออก (Look East) โดยกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย เมียนมาร์ และกลุ่มอาเซียน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของนโยบายต่างประเทศบังกลาเทศ ทั้งนี้ การเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสนับสนุนผลประโยชน์ของบังกลาเทศในภูมิภาคเอเชีย และการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกของบังกลาเทศนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการลดทอนอิทธิพลของอินเดียที่มีต่อบังกลาเทศลงด้วย
ปัจจุบันบังกลาเทศเป็นสมาชิก Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC), Organization of the Islamic Conference (OIC), Asia Cooperation Dialogue (ACD), South Asia Association for Regional Cooperation (SAARC), Non-Aligned Movement (NAM) และเข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum (ARF) เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ รวมทั้งได้ลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Treaty of Amity and Cooperation (TAC) ในระหว่างการประชุม ARF ที่กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงบทบาทที่แข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้กรอบสหประชาชาติ รวมทั้งพยายามใช้ประโยชน์จากการปฏิรูปการเมืองบังกลาเทศที่ถือว่าเป็นผลงานที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ ในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบังกลาเทศในเวทีระหว่างประเทศ และพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตาม roadmap ที่รัฐบาลได้วางไว้
1. ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยและบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๕ ไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์อันดีทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน ปัจจุบัน นางสาวพรรณพิมล สุวรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมภูฏาน) และเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยคือ นางซะอีดะฮ์ มุนา ตัสนีม (H.E. Ms. Saida Muna Tasneem) เข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗
2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยและบังกลาเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอ การเยือนระดับผู้นำประเทศล่าสุด ได้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ และนาง Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ครังที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ไทยและบังกลาเทศได้แสดงไมตรีจิตต่อกันเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อาทิ นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยในเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของไทยในนามรัฐบาลบังกลาเทศเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ จำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุตึกถล่มโดยบริจาค ขาเทียมแก่ผู้ประสบภัยในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖ ณ เมือง Savar ชานกรุงธากา
กลไกส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-บังกลาเทศ (ระดับ รมว.กต.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๕ มีการประชุมแล้ว ๖ ครั้ง (ครั้งที่ ๖ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๔๑) และการประชุมหารือทวิภาคีไทย-บังกลาเทศ (ระดับปลัด กต.) มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน2558 โดยบังกลาเทศเป็นเจ้าภาพ
ในระดับพหุภาคี ไทยกับบังกลาเทศเป็นสมาชิกก่อตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation - BISTEC)
เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ ซึ่งต่อมากลายเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation - BIMSTEC) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๐ และเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๖ ได้พัฒนาเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฏาน เนปาล (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC)
ทั้งนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ มีมติให้
ตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวร BIMSTEC ที่บังกลาเทศ ซึ่งฝ่ายไทยให้การสนับสนุนบังกลาเทศมาโดยตลอด
3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
3.1 การค้า บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ ๓ ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ การค้าสองฝ่ายในปี ๒๕๕8 มีมูลค่า 902.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงเล็กน้อยจากปี 2557 ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 906.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยส่งออก 858.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 44.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 814.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปบังกลาเทศ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ ปูนซิเมนต์ ด้ายและ เส้นใยประดิษฐ์ สินค้านำเข้าที่สำคัญจากบังกลาเทศ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
รายการสินค้าไทยที่มีศักยภาพส่งออกไปบังกลาเทศ ประกอบด้วยสินค้าประเภทวัตถุดิบเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Ready Made Garment Sector) ในบังกลาเทศ อาทิ เส้นใยสำเร็จรูปและ เส้นใยประดิษฐ์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว
ทั้งนี้ ไทยมีพันธกรณีตามกรอบองค์การการค้าโลกในการให้สิทธิพิเศษทางการค้า (Duty Free Quota Free) แก่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ทั่วโลกจำนวน ๔๘ ประเทศ ซึ่งรวมถึงบังกลาเทศด้วย
3.2 การลงทุน ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยไปประกอบธุรกิจในบังกลาเทศประมาณ ๒๓ บริษัท อาทิ บริษัทซีพีผลิตอาหารสัตว์ บริษัท Thai Classical Leathers บริษัท Italian-Thai และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น ทั้งนี้ สาขาการลงทุนที่มีศักยภาพในบังกลาเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร น้ำตาล เครื่องหนัง โดยนักลงทุนไทยสามารถลงทุนทั้งในรูปแบบไทยถือหุ้นทั้งหมด หรือการร่วมทุนทางธุรกิจ (Joint Venture) นอกจากนี้ ไทยยังได้รับประโยชน์จากการที่บังกลาเทศเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) จากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แต่ยังมีกำลังการผลิตไม่ถึงโควตาที่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว นักลงทุนไทยจึงสามารถใช้บังกลาเทศเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดใหญ่ เช่น อินเดีย
สาขาที่บังกลาเทศสนใจที่จะร่วมลงทุนกับไทย ได้แก่ การออกแบบและรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โรงพยาบาล อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เป็นต้น
กลไกส่งเสริมการค้าการลงทุนของภาครัฐ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้าไทย – บังกลาเทศ (Joint Trade Commission) นอกจากนี้ ภาคเอกชนสองฝ่ายได้จัดตั้งสภาธุรกิจร่วม ไทย -บังกลาเทศ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕
บริษัท Italian-Thai ได้ลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับที่กรุงธากากับบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2554 แต่การดำเนินการล่าช้า เนื่องจากบังกลาเทศมีอุปสรรคในการมอบพื้นที่การก่อสร้างให้บริษัทฯ
บริษัท CP ทำธุรกิจในบังกลาเทศเป็นปีที่ 17 โดยเริ่มจากการธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และทำฟาร์มเลี้ยงไก่ จนถึงปัจจุบันมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปและมีร้านจำหน่ายอาหาร โดยมีคนไทยทำงานอยู่ประมาณ 85 คน
4. ปัญหาอุปสรรคในการทำการค้าและการลงทุนในบังกลาเทศ
บังกลาเทศยังคงพึ่งระบบการจัดเก็บภาษี/ศุลกากรในการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยมีการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเกือบทุกประเภท และมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีโดยตรงร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำการค้าและการลงทุนในบังกลาเทศ อาทิ ปัญหาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองในประเทศ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การนัดหยุดงานหรือการประท้วงซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทำให้เกิดการชะงักงันของการดำเนินธุรกิจ ปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ
ปัญหาเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และปัญหาการจัดระบบการคมนาคมขนส่ง ซึ่งรวมถึงความแออัดของท่าเรือจิตตะกอง
5. การประมง
ไทยและบังกลาเทศลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๑ โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการเจรจาเรื่องการทำประมงร่วมกันในลักษณะ joint venture ระหว่างบริษัทเอกชนไทยและบังกลาเทศในอ่าวเบงกอล
ในช่วงแรกบังกลาเทศได้อนุญาตให้เอกชนทำสัญญากับบริษัทไทยกว่า ๒๐ บริษัท แต่ต่อมาบังกลาเทศเห็นว่าข้อตกลงที่มีกับฝ่ายไทยทำให้ฝ่ายบังกลาเทศเสียเปรียบ จึงเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่โดยให้ร่วมทุนในลักษณะ joint venture ที่ต้องมีผู้ร่วมทุนฝ่ายบังกลาเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ต่างชาติไม่เกินร้อยละ ๔๙ และให้ค่อยๆ เพิ่มทุนแบบก้าวหน้าจนเหลือสัดส่วนการถือหุ้นชาวบังกลาเทศต่อชาวต่างชาติร้อยละ ๗๕ ต่อร้อยละ ๒๕ ทำให้บริษัทของไทยเลิกกิจการไปเกือบทั้งหมด
ปัจจุบันบังกลาเทศไม่มีนโยบายอนุญาตให้เรือประมงต่างชาติเข้าไปจับปลาในน่านน้ำบังกลาเทศ
อย่างไรก็ดี ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในสาขาการประมงในบังกลาเทศ และการร่วมมือกับประเทศสมาชิก BIMSTEC ส่งเรือไปสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวเบงกอล
6. ความร่วมมือทางวิชาการ
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการในสาขาเพื่อการพัฒนาแก่บังกลาเทศมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปของการให้ทุนฝึกอบรมภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยในปี ๒๕๕๔ ได้อนุมัติทุนให้แก่บังกลาเทศจำนวน ๒๘ ทุน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยไม่มีการให้ทุนภายใต้กรอบดังกล่าวแก่บังกลาเทศแล้ว
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาประเทศแบบอย่างยั่งยืน อาทิ การนำคณะผู้แทนระดับสูงของบังกลาเทศเดินทางมาศึกษาดูงานตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทย
โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับบังกลาเทศ (Human Resources Development Project) ให้ทุนศึกษา/ฝึกอบรม/ดูงานในไทย จำนวน ๑๕๐ ทุน ระยะ ๓ ปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๖ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นสาขาการสาธารณสุข การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม
ระหว่างการเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) วันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ฝ่ายไทยเสนอที่จะมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้แก่ข้าราชการบังกลาเทศเพิ่มขึ้นอีก ๔๐ ทุน ภายใต้กรอบแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ๕ ปี (๒๕๕๖ – ๒๕๖๐) เพื่อมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – บังกลาเทศ ครบ ๔๐ ปี โดยไทยให้ทุนการศึกษาภายใต้กรอบดังกล่าวปีละ ๘ ทุน ปัจจุบันมีผู้รับทุนดังกล่าวแล้ว ๑๖ ราย
7. โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในบังกลาเทศ มี ๒ โครงการ ได้แก่
7.1. โครงการ Development of Children in the People’s Republic of Bangladesh under the Patronage of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn โดยมีการดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ – ธันวาคม ๒๕๕๖ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนบังกลาเทศ ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ และ ๑๕ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเยาวชนในสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ โดยโครงการฯ มีเป้าหมายสำคัญในการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลและส่งเสริมโภชนาการในเด็กนักเรียน
7.2. โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในบังกลาเทศภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อถ่ายทอดและให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกระทรวงเกษตรบังกลาเทศได้อนุมัติจัดสรรพื้นที่ในศูนย์พัฒนาพืชสวนของบริษัทพัฒนาเกษตรกรรมบังกลาเทศ ณ เมืองกาจิปูระ (Gazipur)
8. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม/ภาคประชาชน
นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ได้จัดเทศกาลอาหารและวัฒนธรรมไทยเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมอาหาร วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทยในบังกลาเทศ ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย และไทยมีเป้าหมายในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวบังกลาเทศที่มีรายได้สูงมารักษาตัวและท่องเที่ยวในไทย สถานพยาบาลซึ่งได้รับการยอมรับจากชาวบังกลาเทศ อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลพญาไท เป็นต้น
ปัจจุบันนักเรียน/นักศึกษาบังกลาเทศมีความสนใจเดินทางมาศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติในไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี
9. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
ในปี ๒๕๕8 นักท่องเที่ยวบังกลาเทศเดินทางมาไทย 95,968 คน และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปบังกลาเทศ 8,991 คนในโอกาสที่ ออท.บังกลาเทศประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘ ได้แจ้งความประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนากับไทย และเสนอให้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ปัจจุบัน มีเที่ยวบินระหว่างไทยกับบังกลาเทศจำนวน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (การบินไทย 7 เที่ยวบินและการบินกรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน)
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)