ราชอาณาจักรภูฏาน

ราชอาณาจักรภูฏาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 10,794 view

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบต ที่เหลือติดกับอินเดีย ไม่มีทางออกทะเล 

 
พื้นที่ : 38,394 ตารางกิโลเมตร (7.5% ของไทย) 
 
เมืองหลวง : กรุงทิมพู (Thimphu) 
 
เมืองสำคัญ : เมืองพาโร (Paro) เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติ เมืองพูนาคา  (Punaka) เป็นเมืองหลวงเก่า ปัจจุบันใช้เป็นพระราชวังฤดูหนาว 
 
ประชากร : 774,800 คน (2558) คน ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติ ได้แก่ 1) ชาชอฟ (Sharchops) ชนพื้นเมืองดั้งเดิม ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออก 2) นาล็อบ (Ngalops) ชนเชื้อสายทิเบต ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันตก และ 3) โชซัม (Lhotshams) ชนเชื้อสายเนปาล ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ 
 
ภูมิอากาศ : มีความหลากหลาย บริเวณที่ราบตอนใต้มีอากาศแบบเขตร้อน บริเวณหุบเขาทางตอนกลางของประเทศมีอากาศร้อนและหนาวตามฤดูกาล ส่วนบริเวณเทือกเขาหิมาลัยมีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวและอากาศเย็นในฤดูร้อน 
 
ภาษา : ซงข่า (Dzongkha) เป็นภาษาราชการ  ภาษาอังกฤษใช้เป็นสื่อกลางในสถาบันการศึกษาและในการติดต่อธุรกิจ ภาษาทิเบตและภาษาเนปาลมีใช้ในบางพื้นที่ 
 
ศาสนา : ศาสนาพุทธมหายาน นิกายกายุบปา (Kagyupa) ซึ่งมีลามะเช่นเดียวกับทิเบต ร้อยละ 75 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติชาชอฟ และนาล็อบ) และศาสนาฮินดู ร้อยละ 25 (ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติโชซัมทางภาคใต้ของประเทศ) 
 
ระบบการปกครอง : ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก 
(His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งภูฏาน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 
 
นายกรัฐมนตรี : นายเชอริ่ง ต็อบเกย์ (H.E. Lyonchhen Tshering Tobgay)
 
รมว.กต. : นายแดมโช ดอร์จี (H.E. Mr. Damcho  Dorji)
 
ออท. : ภูฏาน/ปทท. นายเกซัง วังดี (H.E. Mr. Kesang Wangdi)
 
หน่วยเงินตรา : เงินงุลตรัม (Ngultrum) อัตราแลกเปลี่ยน 1 งุลตรัมประมาณ 0.53 บาท
 
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ : 1.962 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
รายได้ประชาชาติต่อหัว : 2,379 ดอลลาร์สหรัฐ
 
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 3.3   
 
อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 8.2, ไทย : ร้อยละ 1.9     
 
เงินทุนสำรอง : 1.245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไทย : 157.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ     
 
อุตสาหกรรมหลัก : ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำ
 
สินค้านำเข้าที่สำคัญ : น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ข้าว ธัญพืช เครื่องจักรและชิ้นส่วนรถยนต์ และผ้า
 
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : ยิปซั่ม ไม้ซุง สินค้าหัตถกรรม ปูนซีเมนต์ ผลไม้ พลังน้ำ อัญมณี และเครื่องเทศ
 
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ : นำเข้าจาก อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น ส่งออกไปยัง อินเดีย บังกลาเทศ
 
การเมืองการปกครอง
 
สถานการณ์การเมืองภูฏาน
 
สามารถแบ่งรูปแบบการเมืองการปกครองของภูฏานออกเป็น 3 ช่วง คือ
 
     1) สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล (ปี 2451 – ปี 2540)
 
     2) สมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยมีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีบริหาร ประเทศ (ปี 2541 – ปี 2551) สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรี ขึ้นบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองภูฏาน เป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ไว้ที่พระมหากษัตริย์เพียง พระองค์เดียว และไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอีกต่อไป
 
          - นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of the Council of Ministers) ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาคณะมนตรี (เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 10 คน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดลำดับ 1 - 5 จะสลับหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาคณะมนตรีวาระละ 1 ปี
 
      3) การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (ตั้งแต่ปี 2551)
 
          - เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4) ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของภูฏานจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็น ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2549 ทรงประกาศสละราชสมบัติให้แก่มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิม 2 ปี เนื่องจากทรงเห็นว่า ภูฏานอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังนั้นจึงจำเป็นที่มกุฎราชกุมารฯ จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ที่แท้จริงในการปกครองประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในฐานะพระประมุข
 
          - การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปของภูฏานนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากภูฏานจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโลกและ ปัญหาท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าชาวภูฏานไม่ค่อยเต็มใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเห็นว่า การปกครองแบบเดิมภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาชนก็มีความสุขดีอยู่แล้ว แต่เมื่อพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ได้ออกมาชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ประเทศสงบและประชาชนมีความสุข ย่อมจะได้ผลดีกว่าในช่วงที่ประเทศประสบปัญหา เนื่องจากจะได้มีเวลาปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบ ชาวภูฏานจึงเริ่มยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
 
          - รัฐธรรมนูญฉบับแรก ภูฏานได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี ของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของภูฏาน รัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี โดยให้มีระบบรัฐสภาที่มี 2 พรรคการเมืองสำคัญ
 
          - การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ภูฏานได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกของประเทศจำนวน 20 คน เพื่อดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีสมาชิกรวม 25 คน (20 คนมาจากการเลือกตั้งและอีก 5 คนมาจากการแต่งตั้ง) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 ภูฏานได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของภูฏาน ส่งผลให้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของภูฏานที่มีมาเป็นเวลา 100 ปีสิ้นสุดลง และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐ ธรรมนูญซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 79.4 จากจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด 318,465 คน
 
          - ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของ ประเทศ ปรากฏว่า พรรค Bhutan United Party หรือชื่อในภาษาภูฏานว่า Druk Phuensum Tshogpa (DPT) นำโดย เลียนเชน จิกมิ วาย ทินเลย์ (Lyonchoen Jigmi Y. Thinley) ชนะการเลือกตั้งใน 45 เขต (จากทั้งหมด 47 เขต) ด้วยคะแนนเสียงเหนือพรรค People’s Democratic Party (PDP) ส่งผลให้พรรค DPT ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล (แม้แต่ เลียนโป ซังเก เงดุป (Lyonpo Sangay Ngedup) ผู้นำพรรค PDP ก็มิได้รับเลือกตั้ง) และพรรค PDP เป็นพรรคฝ่ายค้าน (ภูฎานมีพรรคการเมืองเพียง 2 พรรคเท่านั้น)
 
          - นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 เลียนเชน จิกมิ วาย ทินเลย์ ได้เข้าสาบานตนต่อสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 แห่งภูฏาน เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของภูฏาน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และต่อมา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 คณะรัฐมนตรีภูฏานจำนวน 10 คน ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเช่นกัน
 
          - เลียนเชน จิกมิ วาย ทินเลย์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีมหาดไทยและวัฒนธรรม และรัฐมนตรีต่างประเทศของภูฏาน และเป็นข้าราชการที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของชาวภูฏาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) ของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 แห่งภูฏาน และเป็นแกนนำสำคัญในการเผยแพร่ทฤษฎี GNH โดยมีนโยบายที่จะนำหลัก GNH มาใช้ในการบริหารประเทศ
 
          - รัฐบาลภูฏานได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 5 และงานครบรอบ 100 ปีราชวงศ์วังชุกระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2551 
นโยบายต่างประเทศ 
     - ภูฏานมีเป้าหมายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ จากเป้าหมายดังกล่าวภูฏานได้ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยยึดหลักนโยบาย Utilitarian Engagement โดยเลือกที่จะมีความสัมพันธ์กับเพียงบางประเทศที่ภูฏานเห็นว่ามีความสำคัญ และให้ประโยชน์สูงสุดแก่ชาวภูฏาน ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการตั้งสถานทูตประจำในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ คูเวต เบลเยี่ยม และไทย และมีคณะทูตถาวรฯ ประจำองค์การสหประชาชาติที่นครเจนีวา และนครนิวยอร์ก ล่าสุดภูฏานเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองกัลกัตตาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง 
     - ความสัมพันธ์กับอินเดีย ในอดีตภูฏานให้ความสำคัญกับอินเดียสูงสุด นโยบายต่างประเทศของภูฏานตั้งอยู่บนพื้นฐานของสนธิสัญญาดาร์จีลิง (Darjeeling) หรือสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏาน ปี 2492 ซึ่งระบุว่า อินเดียจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของภูฏาน แต่ภูฏานยินยอมที่จะได้รับการชี้นำจากอินเดียในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ อินเดียพยายามผูกขาดภูฏานทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น ภูฏานจึงต้องการเพิ่มความสัมพันธ์ไปยังประเทศอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อลดอิทธิพลของอินเดียต่อภูฏานลง และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้ทรงลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพอินเดีย-ภูฏานฉบับใหม่ ทำให้ภูฏานมีอิสระจากอินเดียมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ 
     - ความสัมพันธ์กับจีน ภูฏานได้ดำเนินความสัมพันธ์ในลักษณะระแวดระวังกับจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่มีพรมแดนติดกัน ทั้งนี้ ภูฏานได้ใช้นโยบายที่เรียกว่า Conflict Control and Preventive Diplomacy กับจีน เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างกัน จีนและภูฏานมี กลไกการหารือระดับกระทรวงต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศเป็นประจำทุกปี 
     - ความสัมพันธ์กับเนปาล ปัญหาผู้อพยพภูฏานในเนปาลนับเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยกลุ่มผู้อพยพซึ่งมีอยู่กว่า 100,000 คน อาศัยอยู่ตามชายแดนเนปาลและภูฏาน ในค่ายผู้อพยพจำนวน 7 แห่ง ทั้งสองประเทศได้เจรจากันในเดือนตุลาคม 2546 สามารถตกลงกันได้ในบางประเด็น คือ ผู้อพยพจำนวนกว่าร้อยละ 70 ในค่ายลี้ภัย สามารถเดินทางกลับภูฏานได้ แต่ผู้อพยพเหล่านี้อ้างว่าได้เดินทางออกจากภูฏานเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากรัฐบาลของภูฏาน (ในขณะนั้น) ซึ่งประกอบด้วยชนเผ่า Drukpa ได้ขับไล่ชนกลุ่มน้อยชาว Lothsampa ออกจากประเทศ โดยอ้างว่าเป็นพวกเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 
     - ความสัมพันธ์พหุภาคี ภูฏานให้ความสำคัญกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิก UN (เดือนกันยายน 2514) ทำให้ภูฏานมีความสัมพันธ์กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศได้โดยมิต้องมีการจัดตั้งสถานทูตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งยังสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ โดยผ่านการช่วยเหลือจากนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศในเรื่องที่เป็นความต้องการของภูฏานได้ด้วย โดยเฉพาะในด้านของการพัฒนา 
     - ภูฏานยังเป็นสมาชิกองค์การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด Non-Aligned Movement (NAM) เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนด้านความเป็นกลาง และเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) และBay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC) และ Asia Cooperation Dialogue (ACD) เพื่อขยายบทบาทและความร่วมมือของภูฏานในทวีปเอเชียให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ภูฏานเข้าเป็นประเทศนำ (lead country) ในสาขาความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 
 
เศรษฐกิจและสังคม
 
สภาพเศรษฐกิจของภูฏาน
 
     - ภาคเกษตร ประชากรร้อยละ 90 มีอาชีพทางการเกษตรและป่าไม้ โดยการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ในหุบเขา เศรษฐกิจของภูฏานขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรและป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 33.2 ของ GDP โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ส้ม แอปเปิ้ล ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนม
 
     - ภาคอุตสาหกรรม มีขนาดเล็กมาก มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนน้อย และมีเทคโนโลยีค่อนข้างล้าหลัง อุตสาหกรรมที่สำคัญของภูฏาน ได้แก่ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแคลเซียมคาร์ไบด์ อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมและบริการของภูฏานมีการเติบโตมากขึ้นกว่าภาคการเกษตร ในปี 2550 ภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตร้อยละ10.4 และภาคบริการมีการเติบโตร้อยละ 5.7 ในขณะที่ภาคการเกษตรมีการเติบโตร้อยละ 2.5 ส่วนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในประเทศดำเนินไปค่อนข้างช้า และแทบทั้งหมดต้องอาศัยแรงงานที่อพยพมาจากอินเดีย
 
     - ภูฏานเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงและมีดุลการชำระเงินดี แต่ภูฏานต้องพึ่งพิงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ประมาณร้อยละ 33 ของ GDP เศรษฐกิจของภูฏานยังคงมีความผูกพันกับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้แก่ภูฏานอยู่มาก ขณะนี้ ภูฏานอยู่ระหว่างการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือจากตะวันตกและญี่ปุ่น
 
     - รายได้สำคัญของภูฏานมาจากการส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำไปขายให้แก่อินเดีย ในช่วงแผนพัฒนา (5 ปี) ฉบับที่ 8 (2541-2546) รัฐบาลภูฏานได้สร้างเขื่อนขึ้นใหม่อีก 3 แห่งคือ เขื่อนคูริชู (Kurichhu) เขื่อนบาโชชู (Bashochhu) และเขื่อนทาลา (Tala) ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้เป็นปริมาณถึง 1,125.8 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้สำหรับนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป
 
     - ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเก็บภาษีน้อยที่สุด รายได้จากการเรียกเก็บภาษีคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของรายได้รัฐบาล และภาษีจากภาคธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น ส่วนรายได้ที่เหลือเป็นรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำให้แก่อินเดีย เงินปันผล ค่าภาคหลวง ภาษีสรรพสามิต และรายได้จากสาธารณูปโภค
 
     - ขณะนี้ภูฏานอยู่ภายใต้แผนพัฒนาประเทศ (5 ปี) ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2551 - 2556) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
สภาพสังคมของภูฏาน 
     - สังคมของภูฏานเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย ประชาชนดำเนินชีวิตตามวิถีทางพุทธศาสนานิกายมหายาน และยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาช้านาน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากพระราโชบายของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4) พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันที่ต้องการให้ภูฏานอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนภูฏานใส่ชุดประจำชาติ การอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมแบบภูฏาน ทั้งนี้ แม้จะมีนโยบายเปิดประเทศแต่ภูฏานก็สามารถอนุรักษ์จารีตทางสังคมไว้ได้ 
     - สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวภูฏาน โดยเฉพาะสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก เป็นที่เคารพรักของประชาชนมาก เพราะนอกจากจะเป็นกษัตริย์นักพัฒนาแล้วความเป็นกันเองของพระองค์ในการเสด็จ เยี่ยมราษฎรและการเข้าถึงประชาชน ทำให้พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์ของประชาชน” อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการปลี่ยนแปลงภูฏานให้เป็นสังคม สมัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทรงใช้หลัก “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness – GNH) แทนการวัดการพัฒนาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) 
 
     - สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ทรงริเริ่มปรัชญาในการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” โดยความคิดดังกล่าวเน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจ มากกว่าวัดการพัฒนาด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ทั้งนี้ พระองค์ได้ข้อสรุปจากบทเรียนความผิดพลาดในการพัฒนาของโลกในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และเห็นว่าประเทศจำนวนมากเข้าใจว่าการพัฒนา คือ การแสวงหาความสำเร็จทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้แลกความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสูญเสีย วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่ดีทางธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง 
 
     - อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติก็มิได้ปฏิเสธการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่การพัฒนาด้านต่างๆ จะต้องสมดุลกัน โดยรัฐบาลภูฏานได้พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ประชาชนรทั้ง 4 ได้ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายและแผนงานของรัฐบาลทุกด้าน
 
     - ในทางปฏิบัติ ภูฏานได้บรรจุแนวคิดนี้ให้อยู่ในแผนพัฒสามารถแสวงหาและได้รับความสุขโดยยึด หลักแนวคิดดังกล่าวเป็นพื้นฐานเพื่อให้สามารถรับมือกับกระบวนการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองต่อสิ่งท้าทายของโลก โดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2542 (แผนพัฒนาประเทศ (5 ปี) ฉบับที่ 1 เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2504) โดยเน้นการพัฒนาในทุกสาขาของสังคมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญด้านสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การขจัดปัญหาสังคมและความยากจน พร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทั้งหมดจะดำรงอยู่ด้วยกันในลักษณะกลมกลืนตามหลักพุทธศาสนามหายาน
 
ความสัมพันธ์
 
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย 
 
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
 
                   ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับภูฏาน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ความสัมพันธ์โดยทั่วไปใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาลและประชาชน โดยไทยมีฐานะเป็นประเทศผู้ให้และเป็นมิตรประเทศของภูฏาน ผ่านความช่วยเหลือด้านวิชาการ  ในขณะที่ภูฏานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับไทยและชื่นชมความ สำเร็จในการพัฒนาประเทศของไทย และนำประสบการณ์ของไทยไปปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้ ภูฏานให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วยดีเสมอมา
 
ปัจจุบัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา (บังกลาเทศ) มีเขตอาณาครอบคลุมภูฏาน          โดยนางสาวพรรณพิมล สุวรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำภูฏาน (ถิ่นพำนัก ณ กรุงธากา)   และมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงทิมพู คือ Dasho Ugen Tshechup Dorji  (พระมาตุลาของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ) ได้รับสัญญาบัตรตราตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2546 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตภูฏานประจำประเทศไทยคนใหม่ (นาย Tshewang Chophel Dorji) โดยมีนาย Ugyen Dorji   ทำหน้าที่อุปทูตฯ
 
2. การเยือนระดับสูง
 
                   การเยือนภูฏานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยที่สำคัญ ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เยือนภูฏานเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) เดินทางเยือนภูฏานเพื่อเข้าร่วมโครงการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๒๕ ปี ความสัมพันธ์ ไทย - ภูฏาน ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายกรัฐมนตรีภูฏานด้วย และนายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยือนภูฏาน    ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของกองทุนสุขภาพภูฏาน ตามคำเชิญของรัฐบาลภูฏานระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2558
 
                    นายเชอริง ต็อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏานเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ และได้เดินทางเยือนไทยอีกครั้งระหว่างวันที่ ๖ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ เพื่อเป็นประธาน  การประชุม ESCAP สมัยที่ ๗๐ และได้มีโอกาสหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 
                   นายดามโช ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน ได้เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) ครั้งที่ 14 โดยได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559
 
                   ไทยกับภูฏานมีการหารือทวิภาคีระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (Bilateral Consultations) ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2556 ล่าสุด ภูฏานเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือทวิภาคี ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ เมษายน ๒๕๕๗ ณ กรุงทิมพู
 
3. การค้าและการลงทุน
 
                   มูลค่าการค้ากับไทยในปี 2558 มีน้อย คือประมาณ 11.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 11.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 11.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยและภูฏานมีมูลค่าการค้าปี 2557 เป็นจำนวนรวม 4.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
 
                   สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซุปและอาหารปรุงแต่ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์  
 
                   ไทยและภูฏานได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ภูฏาน  เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน 25๕๖ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว การก่อสร้าง สุขภาพ การรักษาพยาบาล การศึกษา พลังงาน โลจิสติกส์ และการพัฒนา SMEs รวมทั้งระบุถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) เพื่อทบทวน  การดำเนินการตามความตกลงดังกล่าว พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการขยายการค้าและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกันระหว่างกัน
 
                   ภูฏานมีศักยภาพที่นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนได้ใน 2 สาขา คือ การก่อสร้างและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถนน และสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งไทยสามารถ     เข้าไปร่วมพัฒนาด้านนี้ได้ และในปัจจุบันมีโครงการลงทุนด้านการโรงแรมของไทยในภูฏาน (Haven Resort Paro) และบริษัท D2 ภายใต้เครือดุสิตธานีมีข้อตกลงที่จะเข้าไปบริหารโรงแรม D2 ที่กรุงทิมพู ซึ่งภาคเอกชนภูฏานเป็นเจ้าของกิจการ และมีกำหนดเปิดบริการในปี 2560  
 
                   ภูฏานมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีความสวยงามตามธรรมชาติและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาที่นิยมการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ (eco-tourism) ซึ่งนักธุรกิจไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจด้านการโรงแรมที่พักตากอากาศขนาดกลาง ธุรกิจสปา และร้านอาหารไทย เพื่อบริการนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภูฏานยังมีข้อจำกัดในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เพราะจำนวนเที่ยวบินที่ยังมีไม่มาก และที่พักที่ได้มาตรฐานยังไม่เพียงพอ
 
4. การท่องเที่ยว/การติดต่อระหว่างประชาชน
 
                   ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวภูฏานเดินทางมาไทยประมาณ 21,250 คน โดยไทยเป็นจุดหมายเดินทางที่สำคัญของชาวภูฏานที่มีฐานะดี รวมถึงสมาชิกราชวงศ์ของภูฏานที่เดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย และ  รับบริการต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล เนื่องจากสายการบิน Druk Air มีเส้นทางการบินมาไทย   ทุกวัน นอกจากนี้ มีนักศึกษาชาวภูฏานศึกษาระดับปริญญาตรี/โท ในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งฝ่ายไทยได้ให้ทุนการศึกษาเป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีนักศึกษาภูฏานในไทยจำนวนประมาณ 500 คน
 
5. ศาสนาและวัฒนธรรม
 
                   ไทยและภูฏานมีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมอยู่เสมอ อาทิ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระทันตธาตุ) จากภูฏานมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 2 ธันวาคม 2554 – 17 กุมภาพันธ์ 2555 การสร้างพระพุทธรูปลีลาวดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ        พระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงทิมพู และการอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ ประเทศภูฏาน เป็นครั้งแรก   เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 และครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2556
 
6. ความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนา
 
                   ไทยให้การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แก่ภูฏานภายใต้แผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ภูฏานระยะ ๓ ปี โดยแผนฯ ฉบับปัจจุบัน (ปี 2557-2559) ไทยจะให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน ๑๕๐ ทุน (ปีละ ๕๐ ทุน) และทุนฝึกอบรม ๑๓๕ ทุน (ปีละ ๔๕ ทุน) แก่ภูฏาน นอกจากนี้  กรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีความร่วมมือกับหน่วยงาน Royal Civil Service Commission (RCSC) ส่งอาสาสมัครไทย (Thai Volunteers) หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ไปทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ของภูฏาน (ประมาณ ๑-๒ ปี) เพื่อพัฒนาประเทศ
 
                   ไทยได้ให้ความร่วมมือกับภูฏานในโครงการส่งเสริมด้านการเกษตรต่าง ๆ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล (One Gewog One Product-OGOP) ของภูฏาน ในลักษณะเดียวกับโครงการ OTOP ของไทย โดยฝ่ายไทยมีการแบ่งปันองค์ความรู้ รวมไปถึงการพัฒนาสินค้า โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับหน่วยงาน Queen’s Project Office ของภูฏานในการดำเนินโครงการดังกล่าว ล่าสุด ฝ่ายภูฏานได้จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการส่งเสริมด้านการเกษตร ณ ราชอาณาจักรภูฏาน ระหว่างวันที่ 19 – 23 มิถุนายน 2559 โดยอธิบดีกรมความร่วมมือฯ เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมฝ่ายไทย
 
                   ระหว่างวันที่ 23 – 30 พฤษภาคม 2559 สภากาชาดไทยได้จัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเคลื่อนที่ที่ภูฏาน โดยส่งทีมจักษุแพทย์ไปออกหน่วยรักษาผู้ป่วยโรคตา 84 ราย ณ โรงพยาบาลรีเฟอรัล เมืองพาโร ระหว่างการเสด็จฯ เยือนภูฏานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี องค์ผู้อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย (วันที่ 23 – 26 พฤษภาคม 2559) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่               สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา และเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสพระประสูติกาลมกุฎราชกุมารในสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน โดยมีนายเตช บุนนาค รองเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้นำคณะดังกล่าว
 
7. โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในภูฏาน 3 โรงเรียน และขณะนี้ได้ขยายเพิ่มเป็น 6 โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของโรงเรียน ในการผลิตอาหาร แปรรูปอาหารและทำการเกษตรในโรงเรียน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนภูฏาน ซึ่งเป็นโครงการในพระราชูปถัมภ์ โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการภูฏาน  ระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤษภาคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนภูฏานเพื่อทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการฯ ในโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่
 
1. โรงเรียน Wanakha Lower School เมืองพาโร โรงเรียนได้นำความรู้ที่ศึกษาจากประเทศไทยไปทำโรงเพาะเห็ดเพิ่มเติม และได้นำเงินงบประมาณที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการพระราชดำริฯ มาจัดสร้างเป็นโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตรของโรงเรียน
 
2. โรงเรียน Wangbama Central School เมืองทิมพู โรงเรียนดังกล่าวเข้าร่วมโครงการในพระราชดำริ เมื่อปี 2012 โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนประกอบด้วยแปลงผัก เรือนกระจก คอกสุกร นอกจากนี้ โรงเรียนได้วางแผนทำงานอย่างเป็นระบบจนได้รับรางวัล Best School Agricultural Award ของรัฐบาลภูฏาน
 
3. โรงเรียน Samtengang Central School เมืองวังดี โฟดรัง ปัจจุบันโครงการอาหารกลางวันที่มีอยู่สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่สูง แต่ที่ดินมีความสมบูรณ์ จึงทำให้สามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่าปีละ 1,000 กิโลกรัม สร้างรายได้มากว่า 40,000 งุลตรัม