Republic of Uzbekistan

Republic of Uzbekistan

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 Jul 2018

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 Nov 2022

| 1,935 view

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ภาคตะวันตกติดเติร์กเมนิสถาน ภาคตะวันออกติดสาธารณรัฐคีร์กีซและสาธารณรัฐทาจิกิสถาน ภาคเหนือติดคาซัคสถาน ดังนั้นอุซเบกิสถานจึงมีที่ตั้งเสมือนเป็นใจกลางของเอเชียกลางซึ่งมีประเทศอื่น ๆ ล้อมรอบ 
 
พื้นที่ 447,400 ตารางกิโลเมตร(ประมาณ 9 ใน 10 ของไทย) ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง 
 
ภูมิอากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป ฤดูร้อนมีอุณหภูมิเฉลี่ย 35-40 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ย -10-20 องศาเซลเซียส   
 
เมืองหลวง กรุงทาชเคนต์ (Tashkent) 
 
ประชากร 31 ล้านคน ( พฤษภาคม 2559)  แบ่งเป็นชาวอุซเบกร้อยละ 80 รัสเซียร้อยละ 5.5 ทาจิก ร้อยละ 5 คาซัค ร้อยละ 3  และอื่น ๆ ร้อยละ 2.5  
 
ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 88 คริสต์นิกายอีสเทิร์นออโธด๊อกซ์ ร้อยละ 9  อื่นๆ ร้อยละ 3 
 
ภาษาราชการ อุซเบก แต่ภาษาที่ใช้ติดต่อระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ในประเทศคือภาษารัสเซีย 
 
วันชาติ 1 กันยายน (วันประกาศเอกราช) 
 
เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 2 ชั่วโมง) 
 
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 6 พ.ค. 2535 (ค.ศ. 1992) 
 
ประธานาธิบดี -
 
นายกรัฐมนตรี นายเชฟคัท มีร์ซิโยเยฟ (Mr. Shavkat M. Mirziyoyev)
 
รมว.กต. นายคามิลอฟ คาฟิโซวิช (Mr. Kamilov A. Khafizovich)
 
สกุลเงิน ซุม (UZS) 1 บาท = 82.18 UZS (สถานะ ณ พ.ค. 2559)
 
เงินทุนสำรอง 1.60 พันล้าน USD
   
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 5.6
 
GDP 65.95 พันล้าน USD
 
GDP per Growth 2,090 USD
 
Real GDP Growth ร้อยละ 8 (2558)
 
อุตสาหกรรมหลัก เชื้อเพลิงและพลังงาน เครื่องจักรกล อาหาร เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเบา แร่ธาตุและโลหะ
 
สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องมือเครื่องจักร เคมีภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค โลหะ การบริการ พลังงานและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ  
 
สินค้าส่งออกที่สำคัญ พลังงานและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบ การบริการ ฝ้าย โลหะและอื่น ๆ
 
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย เกาหลีใต้ เยอรมนี จีน คาซัคสถาน ตุรกี
 
ตลาดส่งออกที่สำคัญ รัสเซีย จีน ยูเครน ตุรกี ทาจิกิสถาน บังกลาเทศ สาธารณรัฐเกาหลี

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง    สาธารณรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ประมุข   นาย Islam A. Karimov ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2534 (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4) รวมเป็นเวลา 25 ปี
 
นายกรัฐมนตรี  นาย Shavkat M. Mirziyoev (ดำรงตำแหน่งเมื่อ ธันวาคม 2556)
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  นาย Kamilov Abdulaziz Khafizovich (ได้รับแต่งตั้งเมื่อ มกราคม 2555)
 
รัฐสภา อุซเบกิสถานมีการปกครองแบบสองสภา ได้แก่ วุฒิสภา จำนวน 100 ที่นั่ง (โดย 84 ที่นั่งได้รับเลือกโดยสภาระดับภูมิภาคมีวาระ 5 ปี และอีก 16 ที่นั่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี) สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 150 ที่นั่ง (มาจากการเลือกตั้ง โดยมีวาระ 5 ปี)
 
ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
 
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลเศรษฐกิจ
 
รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2535
 
เขตการปกครอง 
 
          12 มณฑล (Viloyat) ได้แก่ Andijon Viloyati, Buxoro Viloyati, Farg'ona Viloyati, Jizzax Viloyati, Namangan Viloyati, Navoiy Viloyati, Qashqadaryo Viloyati, Samarqand Viloyati, Sirdaryo Viloyati (Guliston), Surxondaryo Viloyati (Termiz), Toshkent Viloyati [Tashkent province] และ Xorazm Viloyati (Urganch)                
 
          1 สาธารณรัฐปกครองตนเอง (avtonom respublikasi) ได้แก่ Qoraqalpog'iston Respublikasi [Karakalpakstan Republic] และ 1 เมือง (shahar) Toshkent Shahri [Tashkent City]
 
การเมืองการปกครอง
 
อุซเบกิสถานประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2535 และอยู่ภายใต้การปกครองของ Supreme Soviet (สภาที่ปรึกษา) โดยการนำของนาย Islam A. Karimov ผู้นำพรรคประชาชนประชาธิปไตยแห่งอุซเบกิสถาน (People’s Democratic Party of Uzbekistan - PDPU) ซึ่งต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี    
 
การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 และหลังจากนั้น อุซเบกิสถานได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 150 ที่นั่ง และการเลือกตั้งซ่อม เมื่อวันที่4 มกราคม 2558 มีผลการเลือกตั้ง ดังนี้ พรรค Liberal Democratic Party ได้รับเลือก 52 ที่นั่งพรรค People’s Democratic Party 27 ที่นั่ง พรรค Democratic Party Milly Tiklanish (National Revival) 36 ที่นั่ง พรรค Social Democratic Adolat (Justice) 20 ที่นั่ง และพรรค Ecological movement ได้รับที่นั่งตามโควต้า 15 ที่นั่ง
 
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งฯ ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า นาย Islam Karimov จากพรรค Liberal Democratic Party ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ชนะการเลือกตั้งอย่างท้วมท้นเป็นสมัยที่ 4 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 90.39 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า 21 ล้านคน จนถึงปัจจุบันนาย Karimov ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้วเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่ปี 2534 โดยชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 3 สมัย เมื่อปี 2534 ปี 2543 และปี 2550 ด้วยคะแนนเสียงท้วมท้น ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปของอุซเบกิสถานจะมีขึ้นในปี 2565
 
นโยบายต่างประเทศ
 
อุซเบกิสถานเข้าร่วมองค์กรและกลุ่มความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศและในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ (UN) คณะมนตรีหุ้นส่วนยูโร-แอตแลนติก (Euro-Atlantic Partnership Council - EAPC) และหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace – PfP) องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Organization - ECO) และองค์การความร่วมมือ   เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization - SCO) ขณะเดียวกัน ปฏิเสธการตั้งฐานทัพต่างชาติ (no base) ไม่เข้าร่วมกลุ่มทางการทหารในเวทีระหว่างประเทศ และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันอุซเบกิสถานเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีขนาดเล็กและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะความร่วมมือแบบใต้ - ใต้ (South - South Cooperation) พร้อมกับเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศตะวันตกด้วย โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงและการต่อต้านการก่อการร้าย
 
บทบาทของอุซเบกิสถานด้านความมั่นคงในภูมิภาค
 
อุซเบกิสถานมีบทบาทในการเข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพในภูมิภาคทั้งการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในอัฟกานิสถาน และในทาจิกิสถาน รวมทั้งมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ และรัสเซียในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

เศรษฐกิจและสังคม

อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียกลาง และถูกรายล้อมด้วยประเทศเอเชียกลางอื่นๆ ที่ไม่มีทางออกทะเลเช่นเดียวกัน (Double Landlocked) ทำให้ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการขนส่งสินค้าทางบก ทั้งในการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นและภูมิภาคอื่น
 
อุซเบกิสถานมีจุดแข็งที่สำคัญ คือ เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศอดีตสหภาพโซเวียต (รองจากรัสเซียและยูเครน) มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมบนเส้นทางสายไหม ได้แก่ เมือง Samarkand, Bukhara และ Khiva
 
อุซเบกิสถานเป็นผู้ผลิตและส่งออกฝ้าย ทองคำ ทองแดง ยูเรเนียม ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยผลิตฝ้ายได้เป็นอันดับ 6 ของโลก และส่งออกฝ้ายเป็นอันดับ 5 ของโลก ผลิตยูเรเนียมได้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก และมีทองคำสำรองเป็นอันดับ 8 ของโลก
 
รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การปฏิรูปการเกษตร การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชน ซึ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มอัตราการจ้างงานภายในประเทศและรับการถ่ายถอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่อุซเบกิสถานยังขาดความชำนาญ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องจักร การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ อุซเบกิสถานได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพิเศษ 3 แห่ง ได้แก่ เขตอานเกรน (Angren) เขตนาวอย (Navoi) และเขตจีซซาคฮ์ (Jizzakh) โดยนักลงทุนต่างชาติจะได้รับการอำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
 
นอกจากนี้ อุซเบกิสถานได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในกลุ่ม CIS และจอร์เจีย เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักปฏิบัติอย่างชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง หรือ MFN (Most-Favored Nation Treatment) จาก 45 ประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย เกาหลี สหภาพยุโรป และอื่น ๆ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุซเบกิสถาน ได้แก่ จีน เยอรมนี เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น มาเลเซีย และรัสเซีย
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว รัฐบาลอุซเบกิสถานก็ยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมและมีมาตรการควบคุมเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวด กอปรกับการไม่มีทางออกทะเล ธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นธุรกิจค่อนข้างผูกขาด โดยอุซเบกิสถานถูกจัดอันดับ Transparency International Corruption Perceptions Index เป็นอันดับที่ 153 จาก 168 ประเทศ

ความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย             

 
ไทยประกาศรับรองเอกราชของอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกมีเขตอาณาครอบคลุมอุซเบกิสถาน ส่วนอุซเบกิสถานมีสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทยตั้งแต่ปี 2539 ไทยและอุซเบกิสถานมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-อุซเบกิสถาน (Joint Commission for Bilateral Cooperation – JC) เป็นกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายใช้เป็นเวทีในการทบทวน ติดตามและผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2537 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานโดยฝ่ายอุซเบกิสถานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ณ กรุงทาชเคนต์             
 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

 
ในปี 2558 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 10.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 9.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้ามูลค่า 1.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 7.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปยังอุซเบกิสถาน ได้แก่ เครื่องทำความเย็น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ และเครื่องนุ่งห่ม สินค้านำเข้าของไทยจากอุซเบกิสถาน ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และสิ่งพิมพ์
 
          ข้อจำกัดของไทยในการลงทุนในอุซเบกิสถาน ได้แก่ 
          (1) ภาคเอกชนไทยยังขาดความรู้เกี่ยวกับประเทศอุซเบกิสถาน ทั้งในด้านกฎระเบียบการค้าและการลงทุน ภาษา วัฒนธรรม และธรรมเนียมในการทำธุรกิจของชาวอุซเบก 
          (2) โครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลอุซเบกิสถานที่เปิดให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินในการดำเนินการสูง และมีบริษัทต่างประเทศที่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว เช่น จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ตุรกี และสหภาพยุโรป 
          (3) การขนส่งภายในประเทศและส่งต่อไปประเทศที่สามยังมีต้นทุนสูงเนื่องจากประเทศไม่มีทางออกทะเล อีกทั้งยังถูกแวดล้อมด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเช่นกัน (Double Landlocked) และ 
          (4) ยังมีระบบเศรษฐกิจที่ตกทอดมาจากสหภาพโซเวียต
 

ความร่วมมือด้านวิชาการ

 
ไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่อุซเบกิสถานในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของอุซเบกิสถานได้แก่ ด้านการเกษตร ท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม โดยการมอบทุนอบรมภายใต้ Annual International Training Courses Programme (AITC) ระหว่างปี 2555-2558 จำนวน 12 ราย อาทิ World Experience in Creating Free Industrial-Economic Zones,Thailand’s Experience in Attraction Foreign DirectInvestment, The Pricing Mechanism of Export and Import of Goodsin Foreign Trade และ Tax Administration
 

การท่องเที่ยว

 
ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานนิยมและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวจากอุซเบกิสถานเที่ยวไทยจำนวน 15,387 คน ส่วนหนึ่งมาจากการที่อุซเบกิสถานได้รับสิทธิการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Visa on Arrival) ตั้งแต่ปี 2553 สำหรับนักท่องเที่ยวไทยขอรับการตรวจลงตราได้ที่สถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย รวมทั้งการมีเส้นทางบินตรงระหว่างอุซเบกิสถานกับไทยโดยสายการบิน Uzbekistan Airways เส้นทางกรุงทาชเคนต์ - กรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 2 - 4 เที่ยวบิน
 

การเยือนระดับสูงและการพบหารือทวิภาคี

 
ฝ่ายไทย
 
          - เมื่อวันที่ 7 เมษายน 255 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ กรุงทาชเคนต์ เพื่อประทับพักพระราชอิริยาบทในระหว่างเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่ง ในวโรกาสเสด็จเยือนสาธารณรัฐคีร์กีซ
 
          - ระหว่างวันที่ 20 - 24 เมษายน 2548 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ (เสด็จฯไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนา และทรวงรับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ณ กรุงทาชเคนต์)
 
          - ระหว่างวันที่ 20 - 24 มิถุนายน 2548 ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย รองนรม. เยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ โดยได้มีการพบหารือกับนาย Shavkat Mirziyoev นรม. อุซเบกิสถานและนาย Elyor Ganiev รองนรม./รมว.กต. อุซเบกิสถาน
 
          - ระหว่างวันที่ 1 - 5 กุมภาพันธ์ 2555 นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี
 
          - ระหว่างวันที่ 19 - 23 มีนาคม 2555 นายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้แทนการค้าไทย เยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมงานวันชาติในฐานะแขกรับเชิญของประธานาธิบดี และพบผู้บริหารสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอุซเบกิสถาน และเจรจาจับคู่ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร
 
          - ระหว่างวันที่ 3 - 10 กรกฎาคม 2555 นายอดิศักดิ์ ตันยากุล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเยือนอุซเบกิสถาน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์แนวทางการบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงภายในและความมั่นคงรูปแบบใหม่
 
          - ระหว่างวันที่ 11 - 17 กันยายน 2555 นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของธุรกิจ SMEs          
 
ฝ่ายอุซเบกิสถาน
 
          - เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 นายบัคติยอร์ เซฟูลาเยฟ (Bakhtier Sayfullaev) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและกีฬาอุเซเบกิสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองเพื่อฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน พร้อมพบหารือทวิภาคีกับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 

ความตกลงที่ลงนามกับไทยแล้ว (จำนวน 5 ฉบับ)

 
          1. อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและ การป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนเกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อ 23 เมษายน 2542)
 
          2. บันทึกความเข้าใจบริการเดินอากาศระหว่างไทย - อุซเบกิสถาน (ลงนามเมื่อ 15 กันยายน 2548)
 
          3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน (ลงนามเมื่อ 23 พฤษภาคม 2550)
 
          4. บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (ลงนามเมื่อ 29 ตุลาคม 2553)
 
          5. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬา ไทย - อุซเบกิสถาน (ลงนามเมื่อ 8 พฤษภาคม 2555)
 

ความตกลงที่พร้อมลงนาม (จำนวน 1 ฉบับ)

 
          1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558)
 

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา (จำนวน 8 ฉบับ)

 
          1. ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานว่าด้วยการยกเว้น การตรวจลงตราระหว่างกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต
 
          2. ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน
 
          3. ความตกลงการค้าระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน
 
          4. ความตกลงความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางศุลกากรระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน
 
          5. บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรวิทยาและการตรวจรับรองของอุซเบกิสถานว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรฐานและการตรวจรับรองระหว่างไทย-อุซเบกิสถาน
 
          6. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย-อุซเบกิสถาน
 
          7. สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน
 
          8. สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร่ายข้ามแดน

ความตกลงและความร่วมมือ

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬา 
วันที่ลงนาม 08 พฤษภาคม 2555
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติตระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน
วันที่ลงนาม 29 ตุลาคม 2553
- ข้อตกลงความเข้าใจของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถานและกระทรวงการต่างประเทศ 
วันที่ลงนาม 23 พฤษภาคม 2550
- ความตกลงว่าด้วยปริมาณ และอัตราเที่ยวบินของทั้งสองประเทศ 
วันที่ลงนาม 05 สิงหาคม 2542
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน 
วันที่ลงนาม 23 เมษายน 2542
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - อุซเบกิสถาน
วันที่ลงนาม 16 กุมภาพันธ์ 2537
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริการทางอากาศ
วันที่ลงนาม 17 ธันวาคม 2536

Documents

other-20180717-133455-031460.pdf