ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ค่อนไปในบริเวณเอเชียกลาง ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน ทิศตะวันออกและใต้ติดกับปากีสถาน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับจีน ทิศตะวันตกติดกับอิหร่าน
พื้นที่ : 652,230 ตารางกิโลเมตร (1.27 เท่าของไทย)
เมืองหลวง : กรุงคาบูล (Kabul)
เมืองสำคัญ : เมืองเฮรัต (Herat) เป็นเมืองศูนย์กลางทางภาคตะวันตกของประเทศ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) เป็นเมืองศูนย์กลางทางตอนใต้ และมีถนนเชื่อมกับเมืองเคว็ตต้า (Quetta) ในปากีสถาน
ภูมิอากาศ : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อากาศแห้ง แต่บริเวณหุบเขาบางส่วนในพื้นที่ ติดกับปากีสถานได้รับลมมรสุมจากอินเดีย พัดพาความชื้นมาช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิฤดูร้อนในบางพื้นที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอากาศเย็น บางแห่งติดลบถึง 21 องศาเซลเซียส
ประชากร : 31.6 ล้านคน (ไทย : 67.7 ล้านคน)
เชื้อชาติ : ปาชตูน (Pashtun) ร้อยละ 42 ทาจิก (Tajiks) ร้อยละ 27 ฮาซารา (Hazara) ร้อยละ 9 อุซเบค (Uzbek) ร้อยละ 9 เติร์กเมน (Turkmen) ร้อยละ 3 บาโลช (Baloch) ร้อยละ 2 อื่นๆ ร้อยละ 4
ภาษา : ภาษาพาชตู (Pashtu) และภาษาดาริ (Dari) เป็นภาษาราชการ นอกจากนั้นมีภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าต่างๆ ประมาณ 30 ภาษา
ศาสนา : อิสลามร้อยละ 99 (ในจำนวนนี้ ร้อยละ 80 เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ 19 เป็นนิกายชีอะห์) และอื่นๆ ร้อยละ 1
วันสำคัญ : วันชาติ 19 สิงหาคม (เป็นวันที่ได้รับเอกราช)
ระบอบการเมือง : ประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี
ประธานาธิบดี : ดร. อัชราฟ กาห์นี (Dr. Ashraf Ghani)
นายกรัฐมนตรี : ดร.อับดุลลาห์ อับดุลลาห์ (Dr. Abdullah Abdullah)
รมว.กต. : นายซาลาฮุดดีน รับบานี่ (Mr. Salahuddin Rabbani)
อัตราแลกเปลี่ยน : 1 บาท = 1.93 AFN (อัฟกานี)
เงินทุนสำรอง : 7.52 พันล้าน USD ( ไทย : 157.16 พันล้าน USD )
อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 2.0 (ไทย : ร้อยละ -0.7)
GDP 20.84 : พันล้าน USD (ไทย : 373.8 พันล้าน USD )
GDP per Capita : 659.0 USD (ไทย : 5,519.4 USD )
Real GDP Growth ; ร้อยละ 2.5 (ไทย : ร้อยละ 2.7)
อุตสาหกรรมหลัก : สิ่งทอ สบู่ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ปุ๋ย
สินค้านำเข้าที่สำคัญ : เครื่องจักร อุปกรณ์ อาหาร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : ฝิ่น ผลไม้ ขนสัตว์ ฝ้าย
นำเข้าจาก : ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี รัสเซีย
ส่งออกไปยัง : สหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน ทาจิกิสถาน
ระบบการปกครอง : สาธารณรัฐ (Republic) แบ่งเป็น 34 จังหวัด ได้แก่ Badakhshan, Badghis, Baghlan, Balkh, Bamyan, Daykundi, Farah, Faryab, Ghazni, Ghor, Helmand, Herat, Jowzjan, Kabul, Kandahar, Kapisa, Khost, Kunar, Kunduz, Laghman, Logar, Nangarhar, Nimroz, Nuristan, Paktika, Paktiya, Panjshir, Parwan, Samangan, Sar-e Pul, Takhar, Uruzgan, Wardak, Zabul
การเมืองการปกครอง
รัฐธรรมนูญของอัฟกานิสถานกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขและผู้นำในการบริหารประเทศ มีการกระจายอำนาจการปกครองออกเป็นจังหวัด แบ่งออกเป็น 34 จังหวัด (Province) อย่างไรก็ตาม ในแง่การบริหารจัดการระบบการปกครองภายในประเทศยังไม่ดีนัก เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม และอำนาจของรัฐบาลกลางยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงพื้นที่ห่างไกล โดยปัญหาที่สำคัญคือการแบ่งแยกและผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคง (Warlord)
การบริหารรัฐบาลกลาง
ฝ่ายนิติบัญญัติ
มีรัฐสภา (National Assembly) ซึ่งประกอบด้วย 2 สภา ได้แก่
สภาผู้แทนราษฎร (House of People หรือ Wolesi Jirga) ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 249 คน ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี และ
สภาอาวุโส (House of Elders หรือ Meshrano Jirga) มีสมาชิก 102 คน ซึ่งแบ่งการสรรหาออกเป็น 3 วิธี ในจำนวนที่เท่าๆ กัน โดยสมาชิก 34 คนได้รับเลือกจากคณะบริหารระดับจังหวัด (Provincial Council) ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี สมาชิกอีก 34 คน ได้รับเลือกจากคณะบริหารระดับท้องถิ่น (Local District Council) ดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปี และสมาชิกอีก 34 คน ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งวาระ 5 ปี
นอกจากนี้ อาจมีการประชุมใหญ่ของผู้แทนทุกภาคส่วนที่เรียกว่า Loya Jirga ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจากทั้งสองสภา ร่วมกับคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นทั้งหมด โดยที่ประชุมใหญ่นี้จะจัดขึ้นเฉพาะกรณีที่ต้องพิจารณาประเด็นระดับชาติเท่านั้น คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับเอกราช อธิปไตยของชาติ และเกี่ยวกับดินแดน รวมถึงการฟ้องร้องประธานาธิบดี
ฝ่ายตุลาการ
ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้อัฟกานิสถานมีศาลฎีกา (Supreme Court) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Stera Mahkama มีผู้พิพากษาจำนวน 9 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและต้องให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ดำรงตำแหน่งวาระ 10 ปี รองลงมามีศาลสูง (High Court) และศาลอุทธรณ์ (Appeals Court) ด้วย
การบริหารระดับจังหวัด
แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดหน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น คือ คณะบริหารระดับจังหวัด (Provincial Council) และคณะบริหารระดับท้องถิ่น (Local District Council) แล้ว แต่ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ระบบการบริหารการปกครองของอัฟกานิสถานยังจัดการได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเป็นระบบที่วางขึ้นใหม่ และอำนาจของรัฐบาลกลางยังอ่อนแอ ความเชื่อมโยงของการบริหารอำนาจระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางจึงยังขาดความชัดเจน
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
อัฟกานิสถาน เคยมีระบอบการปกครองแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งปี 2516 พลโทซาดาร์ ข่าน (Sadar Khan) ได้ปฏิวัติยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ผู้นำอัฟกานิสถานในยุคต่อมาเริ่มมีท่าทีใกล้ชิดสหรัฐฯ ทำให้สหภาพโซเวียตไม่พอใจและส่งกองกำลังเข้ายึดครองอัฟกานิสถานในปี 2522 เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมขึ้นแทน ระหว่างการยึดครองของสหภาพโซเวียต ปี 2522-2532 ได้เกิดขบวนการต่อต้านระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมในนามกลุ่มมูจาฮีดีน ซึ่งได้โค่นล้มรัฐบาลที่เข้าข้างสหภาพ โซเวียตได้สำเร็จในปี 2535 แต่กลับไม่สามารถร่วมกันปกครองประเทศได้ เพราะเกิดความแตกแยกและแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงที่ได้รับการศึกษาจากปากีสถานได้รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังทาลิบันขึ้น และมีความเข้มแข็งจนสามารถยึดกรุงคาบูลได้ในปี 2539 ตั้งรัฐบาล ตอลิบันขึ้นปกครองประเทศโดยครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่จนถึงปี 2544
หลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2544 สหรัฐฯ ได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีอัฟกานิสถานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน และมุ่งที่จะจับนายโอซามา บินลาเดน (Osama Binladen) ซึ่งสหรัฐฯ สามารถโค่นล้มรัฐบาลตอลิบันได้สำเร็จในปลายปี 2544 และสหรัฐฯ สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในอัฟกานิสถาน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองในอัฟกานิสถานมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 19 พย 2552 ประธานาธิบดีคาร์ไซได้กล่าวสุนทรพจน่ในวาระที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่สอง โดยประธานาธิบดี คาร์ไซ ได้เสนอนโยบายหลัก 5 ประเด็น คือ
1. การต่อสู้การคอร์รัปชั่น
2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล
3. การพัฒนาเศรษฐกิจ
4. การสนับสนุน Afghan-led peace and reintegration programme และ
5. การสร้างความเข้มแข็งในการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2010 ในระหว่างการประชุม London Conference on Afghanistan ที่กรุงลอนดอน ประธานาธิบดีคาร์ไซ ได้กล่าวในช่วงปิดท้ายของการประชุมว่า อัฟกานิสถานจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาตนเอง โดยย้ำแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลในประเด็นหลักๆ คือ
1. สร้างสันติภาพการปรองดอง และการนำประเทศไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวโดยการจัดตั้ง National Council for Peace, Reconciliation and Reintegration ตามด้วยการประชุม Loya Jirga
2. ด้านความมั่นคงรวมถึงการปกป้องอธิปไตยของประเทศ
3. หลักธรรมาภิบาล ด้วยการปฎิรูปสถาบันของรัฐและให้ความสำคัญกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงการสร้างระบบของหลักธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง โดยเริ่มจากชุมชนไปสู่ส่วนกลาง
4. การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น
5. การพัฒนาเศรษฐกิจ
6. การส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค
สถานการณ์ที่สำคัญ
การเมืองภายใน
อัฟกานิสถาน จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เพื่อสร้างรัฐบาลที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ แต่ปรากฏว่ากลุ่มต่างๆ ซึ่งมีอำนาจในเขตของตนได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับประธานาธิบดีคาร์ไซด้วย แสดงให้เห็นว่าแม้อัฟกานิสถานจะได้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังต้องใช้เวลาในการสร้างความปรองดองในประเทศอีกระยะหนึ่ง ควบคู่กับการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย
ภารกิจสำคัญในปี 2548 ของรัฐบาล คือ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 ซึ่งรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน จึงต้องพึ่งพาประเทศที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งการเลือกตั้งได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2548 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 อัฟกานิสถานได้ประชุมรัฐสภาครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ภายหลังที่อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้การปกครองของอดีตสหภาพโซเวียต กลุ่มมูจาฮีดีนและรัฐบาลทาลิบัน การประชุมครั้งนั้นนับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำอัฟกานิสถานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่า รัฐบาลก็ยังคงจะต้องประนีประนอมกับกลุ่มการเมืองและผู้มีอิทธิผลท้องถิ่นต่อไปในการบริหารประเทศ ดังกรณีที่รัฐบาลได้เผชิญมาแล้วภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ล่าสุด ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิปดีในเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้มาตรฐานในเรืองประชาธิปไตยมากนัก อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคาร์ไซ ได้ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 โดยทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2552 และต้นปี 2553 มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารในคณะรัฐมนตรีของอัฟกานิสถาน
เสถียรภาพภายในของอัฟกานิสถาน
รัฐบาลไม่สามารถควบคุมดูแลพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้ เพราะมีกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นต่างๆ คานอำนาจอยู่ อีกทั้งการจัดตั้งกองกำลังแห่งชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้อัฟกานิสถานต้องพึ่งพากำลังทหารของชาติตะวันตกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ พยายามส่งเสริมการขยายอำนาจปกครองของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อจำกัดบทบาทของกลุ่มการเมืองท้องถิ่น และมีแผนจะช่วยจัดตั้งฐานทัพให้อัฟกานิสถาน
เสถียรภาพภายในอัฟกานิสถานยังมีความเกี่ยวโยงอย่างสำคัญกับปัญหาขบวนการผลิตฝิ่นและค้ายาเสพติด เพราะผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยาเสพติดซึ่งประกอบด้วยนักรบท้องถิ่น ผู้ก่อการร้าย กลุ่มอาชญากร และขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ทำให้ยากต่อการปราบปรามให้เด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเคยระบุว่า สามารถลดการปลูกฝิ่นในพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย และมีความเป็นไปได้ที่ประเทศจะปลอดจากฝิ่นภายใน 5-6 ปี ทั้งนี้ เพราะต้องการลดภาพของความไร้เสถียรภาพของประเทศอันมีผลอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
เศรษฐกิจและสังคม
ข้อมูลเศรษฐกิจปี 2558
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ : 20.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย : 373.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ )
รายได้เฉลี่ยต่อหัว : 659.0 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี (ไทย : 5,519.4 พันล้านดอลลาร์ )
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ประมาณร้อยละ 2.5 (ไทย : ร้อยละ 2.7)
อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 2.0 (ไทย : ร้อยละ -0.7)
สกุลเงิน อัฟกานี (AFN) 1 บาท เท่ากับ 1.93 อัฟกานี , 1.75 อัฟกานี (ปี 2557)
อุตสาหกรรม : สิ่งทอ สบู่ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า ปุ๋ย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็ก อัญมณี
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : ปากีสถาน จีน อินเดีย เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐฯ เติร์กเมนิสถาน คีร์กีซสถาน
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : ปากีสถาน อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี สหรัฐฯ ทาจิกีสถาน เนเธอร์แลนด์
สินค้านำเข้าที่สำคัญ : เครื่องจักร/อุปกรณ์ อาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือน โลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สินค้าออกที่สำคัญ : ฝิ่น พรม ผลไม้ หนังสัตว์ พืชสมุนไพร
นโยบายด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
1. พัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาแห่งชาติระยะ 5 ปี (National Development Strategy 2005-2010) โดยอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นหลักในการบริหารและพัฒนาประเทศ
2. เริ่มปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีและมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ให้สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน
3. ลดการพึ่งพารายได้จากการปลูกฝิ่นและผลิตยาเสพติด สร้างอาชีพทดแทนแก่ประชาชน พร้อมๆ กับการลดพื้นที่ปลูกฝิ่น
ความสัมพันธ์
ด้านการทูต
ไทยเคยยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับอัฟกานิสถาน ภายหลังจากที่สหภาพโซเวียต ยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2522 (ค.ศ.1979) ต่อมาภายหลังการโค่นล้มกลุ่มทาลิบันแล้วทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตโดยลำดับ ปัจจุบันอัฟกานิสถานมอบหมายให้นาย Haron Amin เอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำกรุงโตเกียว ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ไทยก็ให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด (ปากีสถาน) มีเขตอาณาครอบคลุมถึงอัฟกานิสถาน ดังนั้น นายชาญชัย เจียมบุญศรี ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด จึงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำอัฟกานิสถานด้วย
ด้านการเมือง
ในระยะแรกภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต ไทยและอัฟกานิสถานดำเนินความสัมพันธ์ผ่านเวทีการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลัก เช่น ในการประชุมเพื่อฟื้นฟูอัฟกานิสถานที่กรุงโตเกียว เมื่อเดือนมกราคม 2545 และการประชุม Community of Democracies ครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 โดยฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่ไทย มีศักยภาพ อาทิ ด้านการพัฒนาและการเกษตร
ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ไทยได้เชิญรัฐมนตรีด้านการฟื้นฟูบูรณะของอัฟกานิสถานเข้าร่วมประชุม “ทางเลือกเพื่อการพัฒนา : เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นโอกาสให้ไทยได้เสนอแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่ออัฟกานิสถาน อีกทั้งเป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างบุคคลในรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย อันเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองในชั้นต้น และจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงได้ต่อไป
ด้านเศรษฐกิจ
หลังจากอัฟกานิสถานพ้นจากภาวะสงครามเมื่อปี 2544 ไทยให้ความช่วยเหลือระยะต้นโดยเน้นการบรรเทาทุกข์ตามสภาพปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้น อาทิ การมอบข้าวสาร การมอบเงินช่วยเหลือ และยังคงต้องดำเนินความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในรูปแบบความช่วยเหลือ ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน และเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวของอัฟกานิสถาน ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป
ด้านการค้า
โดยที่ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2547 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอัฟกานิสถานมีไม่มากนัก คือ อยู่ในระดับ 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 8.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สินค้าออกของไทยที่มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในปี 2548 คือ หมวดรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นหมวดสินค้าออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังอัฟกานิสถานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอัฟกานิสถานอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในอนาคต
ด้านความช่วยเหลือทางวิชาการ
ฝ่ายไทยโดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Thailand International Development Cooperation Agency - TICA) หรือกรมวิเทศสหการในอดีต ได้จัดสรรทุนฝึกอบรมให้แก่ชาวอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2546 ในสาขาเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด การส่งเสริมการค้า การศึกษา ปัญหาความยากจน เป็นต้น ส่วนในปี 2548 TICA ได้จัดสรรทุนสำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมนานาชาติแก่อัฟกานิสถานรวม 7 หลักสูตร
การฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถาน
ไทยมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน โดยได้ส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ จำนวน 1 กองร้อยไปปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรม และซ่อมแซมสนามบินบากรัม (Bagram) ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2546 เป็นระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เชิญบุคคลระดับรัฐมนตรีของอัฟกานิสถานมาเยี่ยมชมโครงการพัฒนาดอยตุง พร้อมทั้งเชิญคณะเจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานมาศึกษาดูงานและรับการฝึกอบรมด้านการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแล้ว 3 คณะ โดยจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งฝ่ายอัฟกานิสถานให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมากและต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากไทย กิจกรรมเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป ในปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับรัฐบาลอัฟกานิสถานดำเนินโครงการด้านการปลูกพืชทดแทน ด้านการ ปศุสัตว์ โดยจัดทำโครงการธนาคารแกะโดยการเพิ่มอัตราการเป็นเจ้าของแกะของชาวอัฟกัน และการสร้างอาชีพอื่นๆ ในอัฟกานิสถาน