สาธารณรัฐอินเดีย

สาธารณรัฐอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,500 view

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้และ ตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับพม่า ทิศตะวันออกติดกับบังกลาเทศ

พื้นที่ : 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก

เมืองหลวง : กรุงนิวเดลี (New Delhi)

ประชากร : 1.251 พันล้านคน (กรกฎาคม 2559) (อันดับ 2 ของโลก)

ภูมิอากาศ : มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่ ตอนเหนืออยู่ในเขตหนาว ขณะที่ตอนใต้อยู่ในเขตร้อน ทางเหนือมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำสินธุและคงคา จึงอุดมสมบูรณ์กว่าตอนใต้ ซึ่งมีแต่แม่น้ำสายสั้นๆ อุณหภูมิเฉลี่ยในที่ราบช่วงฤดูร้อน ประมาณ 35 องศาเซลเซียส และฤดูหนาว ประมาณ 10 องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ : ภาษาฮินดีเป็นภาษาที่ใช้โดยประชาชนส่วนใหญ่ ภาษาอังกฤษเป็น ภาษาที่ใช้ในวงราชการและธุรกิจ นอกจากนั้น ยังมีภาษาท้องถิ่น อีกนับร้อยภาษา แต่ที่ใช้กันมากมี 14 ภาษา อาทิ อูรดู เตลูกู เบงกาลี ทมิฬ และปัญจาบี

ศาสนา : ฮินดู ร้อยละ 81.3 มุสลิม ร้อยละ 12 คริสต์ ร้อยละ 2.3 ซิกข์ ร้อยละ 1.9 อื่น ๆ (พุทธและเชน) ร้อยละ 2.5

วันชาติ : วันที่ 26 มกราคม (Republic Day)

ประธานาธิบดี : นาย ประนาบ มุกเคอร์จี (Pranab Mukherjee)

นายกรัฐมนตรี : นาย นเรนทร โมที (Narendra Modi) (ตั้งแต่ 26 พ.ค. 2557 / คนที่ 15 ของอินเดีย)

รมว.กต. : นาง ศุษมา สวราช (Sushma Swaraj) 26 พ.ค. 2557

หน่วยเงินตรา : รูปี (Rupee) (1 รูปี เท่ากับประมาณ 0.54 บาท) (7 มกราคม 2559)

GDP : 2.049 ล้านล้าน USD ( ปี 2557 ), ไทย : 464.824 พันล้าน USD ( ปี 2557 )

รายได้ประชาชาติต่อหัว : 1,581.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2557), ไทย 5,977.4  ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2557)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 7.3 (ปี 2557), (ไทย : ร้อยละ 0.9 ปี 2557 )

อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 6.4 (ปี 2557), (ไทย : ร้อยละ 1.9 ปี 2557 )

เงินทุนสำรอง : 325 พันล้าน USD (เมษายน 2558), ไทย : 157 พันล้าน USD (มกราคม 2558)

อุตสาหกรรมหลัก : สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ แปรรูปอาหารเหล็ก

สินค้าส่งออกที่สำคัญ : เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ

สินค้านำเข้าที่สำคัญ : น้ำมันดิบ เครื่องจักร อัญมณี ปุ๋ย เคมีภัณฑ์

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ : นำเข้าจาก จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ ส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา จีน UAE สหราชอาณาจักร 

ระบอบการปกครอง : สาธารณรัฐ (Federal Republic) อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 28 รัฐ และดินแดนสหภาพ (Union Territories) อีก 7 เขต แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายประนาบ มุเคอร์จี (Pranab Mukherjee) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายนเรทร โมที (Narendra Modi)

รูปแบบการปกครอง 

      (1) อำนาจบริหารส่วนกลาง

            รัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องการป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่นๆ ด้านการเงิน กฎหมายอาญา ฯลฯ

            ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย 2 สภา คือ ราชยสภา (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา และโลกสภา (Lok Sabha) หรือสภาผู้แทนราษฎร การตรากฎหมายต่างๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา

            รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ราชยสภามีสมาชิก 250 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน โดย 12 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทุกๆ 2 ปี และอีก 233 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (Legislative Assemply) หรือวิธานสภา เป็นผู้เลือก ถือเป็นผู้แทนของรัฐและดินแดนสหภาพ โลกสภามีสมาชิก 545 คน โดย 543 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง (530 คน มาจากแต่ละรัฐ 13 คน มาจากดินแดนสหภาพ) และอีก 2 คน มาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดีจากชุมชนชาวผิวขาว (Anglo-Community) ในประเทศ สมาชิกโลกสภามีวาระคราวละ 5 ปี เว้นเสียแต่จะมี การยุบสภา

            ฝ่ายบริหาร

            ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Head of Executives of the Union) ซึ่งประกอบด้วยรองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา รวมทั้งสภานิติบัญญัติของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวาระที่ 2 ได้

            รองประธานาธิบดี ได้รับการเลือกตั้งทางอ้อมจากผู้แทนของทั้ง 2 สภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และเป็นประธานราชยสภาโดยตำแหน่ง

            นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่มีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย รัฐมนตรี (Ministers) รัฐมนตรีที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี (Ministers of State - Independent Charge) และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (Ministers of State) คณะรัฐมนตรีรายงานโดยตรงต่อโลกสภา

            ฝ่ายตุลาการ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปกป้องและตีความรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา (Supreme Court) เป็นศาลสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาประจำศาลฎีกา มีจำนวนไม่เกิน 25 คน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ในระดับรัฐ มีศาลสูง (High Court) ของตนเองเป็นศาลสูงสุดของแต่ละรัฐ รองลงมาเป็นศาลย่อย (Subordinate Courts) ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ

     (2) อำนาจบริหารระดับรัฐ

           รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) และรัฐบาล มลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน รัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ

           โครงสร้างของฝ่ายบริหารในแต่ละมลรัฐ ประกอบด้วย ผู้ว่าการรัฐ (Governor) เป็นประมุขของรัฐ ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี (ตามข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล) มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งถอดถอนมุขมนตรีและคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ แต่งตั้งอัยการประจำรัฐ เรียกประชุมและยุบสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ให้ความเห็นชอบและยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐ มีอำนาจลดโทษและให้อภัยโทษ

            รัฐบาลแห่งรัฐ (State Government) ประกอบด้วยมุขมนตรี (Chief Minister) เป็นหัวหน้าและเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารภายในรัฐ และคณะรัฐมนตรีประจำรัฐ (State Ministers) ทั้งนี้ รัฐบาลแห่งรัฐจะมาจากพรรคการเมืองที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งภายในรัฐ หรือได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ 

การเมืองการปกครอง 

     พรรคคองเกรสและพันธมิตร (United Progressive Alliance - UPA) นำโดย นางโซเนีย คานธี (Sonia Gandhi) ซึ่งมีนายมานโมฮัน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 15 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้พรรคคองเกรสสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของอินเดีย และมีนโยบายในการบริหารประเทศ สรุปได้ ดังนี้ 

นโยบายภายในประเทศ

        1. การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงิน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสาขาพลังงาน ทางรถไฟ ถนน และการบิน โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ถึงร้อยละ 8 - 9 เช่นปีก่อนๆ (อัตรา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเหลือร้อยละ 6.8 ในปี 2552) แม้อินเดียจะต้องเผชิญกับ สภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งถดถอย โดยรัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 100 วัน นับจากวันเข้ารับหน้าที่ 
        2. การเพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการรักษาความมั่นคงภายในและการคงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของสังคมต่างศาสนา 
        3. การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสร้างงาน/สวัสดิการในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการประกันตำแหน่งงานในชนบท การเพิ่มวงเงินกู้ยืมด้านการเกษตร 
        4. การปฏิรูปภาครัฐ 
        5. การสานต่อนโยบายความมั่นคงทางพลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อม 

นโยบายต่างประเทศ

        อินเดียยังคงดำเนินตามทิศทางเดิม โดยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก ตามนโยบาย neighborhood diplomacy (เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ โดยเฉพาะปากีสถาน) การให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ยุโรป เอเชียตะวันออก และอาเซียน ตามนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นพันธมิตรดั้งเดิม และมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง การส่งเสริมความร่วมมือกับ มิตรประเทศใหม่ ๆ เช่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน 

        ในช่วงที่ผ่านมา อินเดียถูกจับตามองจากมหาอำนาจในภูมิภาคและมหาอำนาจของโลก เนื่องจากมีบทบาทที่ชัดเจนมากขึ้นในการนำประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมีจุดยืนการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นของตนเอง ส่งเสริมค่านิยม Multilateralism และ Multi-polar World มีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement – NAM) กลุ่ม G77 และ กลุ่มประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน (Brazil, Russia, India and China – BRIC countries) นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) กลุ่ม G8 กลุ่ม G20 เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์ เพื่อการเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ทั้งนี้ ปัจจัยเด่นที่สนับสนุนการเป็นมหาอำนาจของอินเดีย คือ การมีประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความเข้มแข็ง มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในหลายโอกาส ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงเร่งกระชับหรือรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอินเดีย เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทปัจจุบัน 

ความท้าทายของรัฐบาล 

     รัฐบาลชุดปัจจุบันถือได้ว่ามีเสถียรภาพและทำให้การบริหารนโยบายต่าง ๆ มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจและการกระตุ้นอัตราการเจริญเติบโต โดยเน้นภาคการผลิต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการในเขตชนบท รวมถึงการดำเนินนโยบายประชานิยม (populist measures) ซึ่งเน้นประชากรระดับรากหญ้า อันจะนำไปสู่การกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกัน (inclusive growth) ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐบาลนำโดยพรรคคองเกรสเข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่สอง ผลงานของรัฐบาลในภาพรวมค่อนข้างเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและสื่อมวลชนอินเดีย โดยเฉพาะการเริ่มปฏิรูปภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกถึงประชาชนมากขึ้น เช่น การจัดตั้งหน่วยงานติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานตามโครงการของรัฐบาล การจัดตั้งหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Guard) ประจำภูมิภาค 4 แห่ง เพื่อปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคง การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี การส่งเสริมสวัสดิการประชาชนระดับรากหญ้าและส่งเสริมสิทธิสตรี ตลอดจนการปฏิรูปการศึกษาและระบบสาธารณสุข และการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ครอบคลุมยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนกับประเทศสำคัญ โดยเน้นความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของอินเดีย ในด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 

     อย่างไรก็ดี ในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว รัฐบาลอินเดียอาจต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งสูงขึ้นอย่างมาก ความแห้งแล้ง ปริมาณพลังงานและน้ำไม่เพียงพอในการพัฒนาประเทศ การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตลอดจนความสัมพันธ์ ที่ตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และปัญหาการก่อการร้ายโดยกลุ่มนิยมลัทธิเหมา ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ย่อมมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาวได้

ผลงานของรัฐบาลอินเดียในรอบปี 2553

     พรรคคองเกรสและพันธมิตร UPA ยังคงสามารถรักษาคะแนนนิยมจากประชาชนได้ในห้วงปี 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจาก (1) รัฐบาลประสบผลสำเร็จในการรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 8) (2) รัฐบาลเน้นโครงการพัฒนาสวัสดิการและโอกาสทางสังคมสำหรับประชาชนในชนบท อาทิ การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน การก่อการร้าย การปราบปรามการทุจริตในวงราชการ ปัญหาการว่างงาน การดูแลสวัสดิการของประชาชนระดับรากหญ้า การคงไว้ซึ่งค่านิยมการไม่ยึดถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นหลัก (secular values) และ (3) ปัญหาความแตกแยกของพรรคฝ่ายค้านหลัก ได้แก่ พรรคภารตียะ ชนตา (Bharatiya Janata Party - BJP) และพรรคฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ที่สนับสนุนพรรคคองเกรสและพันธมิตรในทางการเมือง

     นโยบายสำคัญของรัฐบาลอินเดียคือ การส่งเสริมและพัฒนาความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในทุกชนชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเจริญอย่างยั่งยืนของอินเดีย โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการสร้างความสำนึกให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม กับการพัฒนาประเทศ ได้แก่ (1) กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปภาคการเงิน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสาขาพลังงาน รถไฟ ถนน และ  การบิน (2) เพิ่มความเข้มงวดกับมาตรการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความเป็นเอกภาพของสังคมต่างศาสนา (3) เน้นการปฏิรูปภาครัฐ และเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสร้างงาน/สวัสดิการในชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ราวร้อยละ 70) (4) เร่งการสานต่อนโยบายความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม (5) การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับประชาคมระหว่างประเทศ 
ในช่วงปีแรกของของรัฐบาลอินเดีย (สมัยที่สอง) UPA ได้เร่งรัดและผลักดันการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ โครงการที่เห็นผลเป็นรูปธรรมคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท โครงการประกัน    

     การจ้างงานในชนบท โครงการสนับสนุนสวัสดิการด้านสาธารณสุขในชนบท การเพิ่มผลผลิตการเกษตรตามนโยบายการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การบัญญัติกฎหมายด้านการศึกษาซึ่งให้สิทธิแก่เยาวชนเรียนฟรีถึงระดับมัธยมศึกษา โครงการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสและปรับปรุงสวัสดิการให้แก่วรรณะชั้นต่ำ ชนเผ่า และชนชั้นล้าหลัง (ซึ่งต่ำกว่าวรรณะชั้นต่ำ) และสตรี โดยรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐชัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) และภูมิภาคพุนเทลขันฑ์ (Bundelkhand) ในตอนกลางของอินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนของประเทศ

     การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอินเดียยึดหลักความสอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ  และความมั่นคง การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค รัฐบาลยึดมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจและมิตรประเทศในโลกกำลังพัฒนา เนื่องจากตระหนักดีว่าศตวรรษที่ 21 (ตั้งแต่ปี 2543) เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย โดยอินเดียก็จะมีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานี้ด้วย

การเมือง : การเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญทางการเมือง

     ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของบุคคลระดับสูงในคณะรัฐบาล ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องหามาตรการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนและเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีอินเดียได้เสนอที่จะจัดตั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยในการประชุมภายในของพรรคคองเกรสเมื่อปลายปี 2553 นางโซเนียได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้ปรับคณะรัฐมนตรีแล้วล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 (จำนวน 30 ตำแหน่ง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ดูแลรับผิดชอบกระทรวงด้านเศรษฐกิจ

     ปัญหาเรื่องราคาอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านใช้โจมตีรัฐบาลและส่งผลให้รัฐบาล UPA ได้รับความนิยมลดน้อยลง อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจคนอินเดียก็ยังเห็นว่าพรรคคองเกรสยังเป็นพรรคการเมืองที่เหมาะสมที่สุดที่จะบริหารประเทศ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะพยายามโจมตีจุดอ่อนของรัฐบาลเพื่อสร้างกระแสความนิยม และพยายามแสวงหาพันธมิตรทางการเมืองเพิ่มเติมแต่พรรค BJP ยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นให้กับพรรคฝ่ายค้านในภาพรวมได้ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน ก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มสำคัญคือ พรรค BJP กับพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งต่างแย่งชิงพันธมิตรระหว่างกันเอง

ความมั่นคง 

     รัฐบาลอินเดียมีผลงานที่ดีในการแก้ไขปัญหากลุ่มนิยมลัทธิเหมา (กลุ่ม Naxalite)  ดังเห็นได้จากการก่อเหตุในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ลดน้อยลง แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการประสานงานที่ดีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับรัฐที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก (1) แกนนำของกลุ่ม United Liberation Front of Asom (ULFA) (รัฐอัสสัม) ถูกจับกุมตัว (2) อินเดียได้รับความร่วมมือที่ดีจากรัฐบาลบังกลาเทศ จนทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคยใช้บังคลาเทศเป็นฐานไม่มีที่พักพิง อ่อนแอลง และยินยอมที่จะเจรจากับรัฐบาลอินเดีย

     อย่างไรก็ดี ประเด็นด้านความมั่นคงที่ยังน่าห่วงกังวลและยังคงเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลอินเดียในปี 2554 คือ (1) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในปากีสถานและอัฟกานิสถานได้แก่ กลุ่ม Lashkar-e-Taiba (LeT) ซึ่งมีฐานที่มั่นในปากีสถานและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) (2) กลุ่มอินเดียน มูจาฮีดีน (Indian Mujahideen) ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายในประเทศ (homegrown terrorist) ที่ถูกแสวงประโยชน์จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม (3) กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam – LTTE) ซึ่งมีข่าวว่ากลับมาใช้รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ทางภาคใต้ของอินเดียเป็นฐานในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลศรีลังกา และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม LeT และกลุ่มอัลกออิดะห์ 

ภาพรวมทางเศรษฐกิจของอินเดีย

     อินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ประชากรกว่าร้อยละ 60 ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาความยากจนและการว่างงานเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการปิดประเทศและดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในมานาน อย่างไรก็ดี อินเดียได้เริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2534 เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติในกิจการไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้เปิดเสรีโทรคมนาคมและการสื่อสารในปี 2543 ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันอินเดียอยู่ในสถานะตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนานาชาติ

      ในปี 2550 เศรษฐกิจอินเดียเติบโตประมาณร้อยละ 8.7 อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 12 (กรกฎาคม ปี 2551) มีเงินทุนสำรองต่างประเทศกว่า 315 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มิถุนายน ปี 2551) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

      อินเดียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในภูมิภาคเอเชียใต้ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีกระแสความนิยมทางการค้าและการลงทุนหลั่งไหลสู่ภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังรวมถึงการที่รัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบันได้พยายามสานต่อการปฏิรูประบบโครงสร้างต่างๆ ของประเทศต่อจากรัฐบาลชุดก่อน เพื่อรองรับการค้าการลงทุนและเพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพที่ยั่งยืนต่อไป

      รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญต่อการลงทุนในด้านสาธารณูปโภค การศึกษา ความมั่นคงทางสังคม การปรับโครงสร้างของภาครัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การขยายฐานภาษี และการพัฒนาในส่วนภูมิภาคและภาคการเกษตร นอกจากนี้ การลงทุนทั้งในอุตสาหกรรม การค้า และบริการ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่อินเดียมีนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากอินเดียมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้านวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก และมีความได้เปรียบทางด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีค่าจ้างแรงงานที่ถูก ทำให้บริษัทต่างชาติสนใจมาตั้งฐานการผลิตที่อินเดียอย่างกว้างขวาง

      รัฐบาลอินเดียได้ผ่อนปรนข้อบังคับหลายๆ อย่าง เช่น ลดการจำกัดประเภทของการลงทุน และเพิ่มมูลค่าผลกำไรที่สามารถส่งกลับประเทศได้ การก่อสร้างขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2547 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงสาธารณูปโภครวมมูลค่าประมาณ 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาถนนสายสำคัญทั่วประเทศ ปรับปรุงเส้นทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชน ขยายเครือข่ายโทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ก่อสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพิ่มเติม เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอินเดีย นอกจากนั้น รัฐบาลอินเดียยังได้พยายามออกมาตรการที่เอื้อให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนโดยตรงได้ง่ายและสะดวกขึ้นเรื่อยๆ เช่น ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 ได้ตัดกระบวนการขออนุญาตการลงทุนโดยไม่ต้องผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งขยายเพดานให้ต่างชาติสามารถลงทุนโดยตรงได้ร้อยละ 100 ในหลายสาขา ได้แก่ กิจการ ท่าอากาศยาน การวางโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับปิโตรเลียม (เช่นการวางท่อขนส่งน้ำมันและกาซธรรมชาติ) การค้าพลังงาน (power trading) การลงทุนในเหมืองเพชรและถ่านหิน การผลิตและจัดเก็บกาแฟ และยางพารา อีกทั้งยังเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนโดยตรงในกิจการค้าปลีกที่ขายสินค้าเพียงตราเดียว (single brand ) ได้ถึงร้อยละ 51 เป็นครั้งแรก เช่น Sony Reebok Louis Vuitton เป็นต้น

      นอกจากนี้ นโยบายการเงินของอินเดียที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำยังส่งผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางอินเดียได้รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากในรอบ 31 ปี ส่งผลทางบวกให้เกิดการกู้ยืมในระบบธนาคาร และกระตุ้นให้มีการลงทุนขยายกิจการมากขึ้น

      เศรษฐกิจอินเดียในปี 2553 ฟื้นตัวจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ภายหลังที่รัฐบาลอินเดียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอันนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลงบประมาณ โดยเพิ่มจากร้อยละ 3.1 ในปีงบประมาณ  2550-2551 เป็นร้อยละ 7.5 ในปีงบประมาณ2551-2552 และคาดว่าในปีงบประมาณ 2553-2554 งบประมาณขาดดุลจะอยู่ที่ร้อยละ 6.6

      ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553-2554 เศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโตที่ร้อยละ 8.8  โดยกระทรวงการคลังอินเดียคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปีงบประมาณ 2553-2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 8.5 เป็นอย่างน้อย เมื่อเทียบกับร้อยละ 7.4 ในปีงบประมาณ 2552-2553 โดยรัฐบาลอินเดียยังคงให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและการกระจายผลประโยชน์ของอัตราการเจริญเติบโตให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในประเทศ 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1. ด้านการทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดีย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2490 โดยในระยะแรกเป็นระดับอัครราชทูต ต่อมา ได้ยกระดับขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2494

ปัจจุบัน นายพิศาล มาณวพัฒน์ ดำรงตำเเหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดียโดยเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 ไทยมีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี และมี สถานกงสุลใหญ่อีก 3 แห่ง ที่เมืองกัลกัตตา (Kolkata) เมืองมุมไบ (Mumbai) และเมืองเจนไน (Chennai)

อินเดียมีสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ สถานกงสุลประจำจังหวัดเชียงใหม่ และสถานกงสุลประจำจังหวัดสงขลา โดยมีนายอนิล วัดวา (Anil Wadhwa) เป็นเอกอัครราชทูต อินเดียประจำประเทศไทย

ไทยและอินเดียมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ในระดับพระราชวงศ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 14 ครั้ง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 10 ครั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ 1 ครั้ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาเสด็จฯ เยือนอินเดีย 2 ครั้ง

นายมานโมฮัน สิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย เคยเดินทางเยือนประเทศไทย 2 ครั้ง เพื่อร่วม การประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 1 (วันที่ 31 ก.ค. 2004) ที่กรุงเทพฯ และการประชุมระดับผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. 2009) ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ เคยให้การต้อนรับผู้นำรัฐบาลไทยเยือนอินเดีย ได้แก่ (1) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน มิ.ย. 2007 (2) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ย. 2008 (3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน เม.ย. 2011 และ (4) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมงาน เฉลิมฉลองวันสถาปนาสาธารณรัฐของอินเดียในฐานะแขกเกียรติยศระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค. 2012

ในด้านการจัดทำความตกลงทวิภาคี ไทยและอินเดียมีการจัดทำความตกลงเพื่อขยาย ความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายสาขา สำหรับปัจจุบัน มีความตกลง และบันทึกความเข้าใจต่างๆ ซึ่งได้ลงนามแล้ว ทั้งหมด จำนวน 29 ฉบับ และอยู่ระหว่างการเจรจา/ปรับปรุงแก้ไข อีก 10 ฉบับ

2. ด้านการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียมีความราบรื่นและใกล้ชิด ไม่มีประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน ไทยดำเนินนโยบายมุ่งตะวันตก (Look West Policy) ซึ่งให้ความสำคัญกับอินเดีย ในฐานะมหาอำนาจและเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในเอเชียใต้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย มุ่งตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดียที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / เอเชียตะวันออก

สำหรับกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือ ทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JC) จัดตั้งเมื่อปี 1989 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศเป็นประธาน และมีการประชุมแล้ว 6 ครั้ง ล่าสุด การประชุมครั้งที่ 6 จัดขึ้น ที่กรุงนิวเดลี 24-25 ธันวาคม 2011

เมื่อ 24-26 มกราคม 2012 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญจากรัฐบาลอินเดีย ให้เข้าร่วมงานวันสถาปนาสาธารณรัฐ (Republic Day) ในฐานะ Chief Guest และเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นผู้นำรัฐบาลไทยคนแรกที่ได้รับเชิญในฐานะดังกล่าว และผู้นำทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และเน้นความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและ การคมนาคมระหว่างไทยและอาเซียนกับอินเดีย

นอกจากนี้ เมื่อ 20-21 ธันวาคม 2012 นายกรัฐมนตรียังเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ซึ่งเป็น การส่งสัญญาณจากอินเดียว่า ให้ความสำคัญ และประสงค์จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับอาเซียน และไทยอย่างรอบด้าน

3. ด้านความมั่นคง / การทหาร

อินเดียให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยไทยและอินเดียได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง (Joint Working Group on Security Cooperation -JWG) ซึ่งเป็นกลไกสำหรับการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้าน ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ

ล่าสุด ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JWG ด้านความมั่นคงครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 18 -19 กรกฎาคม 2012 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้าน การก่อการร้าย การแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรอง (Intelligence Exchange) การต่อต้านการก่อการร้าย และการค้าอาวุธ (Terrorism and Arms Smuggling) เป็นต้น

ด้านการทหาร ไทยและอินเดียมีการลาดตระเวนร่วมระหว่างกองทัพเรือ ตลอดจนการฝึกร่วมระหว่างทหารเรือ ทหารบก และทหารอากาศ ไทยและอินเดียมีการลาดตระเวนร่วมระหว่างกองทัพเรือตลอดจนการฝึกร่วมระหว่าง กองทัพบก กองทัพเรือ (ภายใต้รหัส “ไมตรี”) และ กองทัพอากาศ (ภายใต้รหัส “สยาม-ภารตะ”) และได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างกระทรวงกลาโหมสองฝ่ายครั้งแรกเมื่อปี 2011 และตามด้วยการเยือนอินเดีย ของ รมว.กห.ไทย ในเดือน ธ.ค. 2011

ล่าสุด ไทยและอินเดียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหม (MoU on Defence Cooperation) ในระหว่างการเยือนของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2012 ซึ่งครอบคลุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลความร่วมมือในการฝึกอบรมการจัดกิจกรรม และความร่วมมือ ด้านช่วยเหลือมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ 

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เดินทางเยือนอินเดียเมื่อ 21-23 ธันวาคม 2012 โดยทั้งสองได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในด้านการลาดตระเวนทางเรือ และฝ่ายไทยแสดงความสนใจที่เรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาอาวุธของอินเดีย พร้อมเสนอให้มีการฝึกร่วมผสมมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกลาโหมอินเดียมีกำหนดเยือนไทยวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2013 ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่ได้เลื่อนการเยือนออกไป 

4. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

การค้า อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพและใหญ่ที่สุดในเอเชียใต้ มีประชากรประมาณ 1.21 พันล้านคน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 8 อย่างต่อเนื่อง โดยอินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย และเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้ ในปี 2555 การค้ารวมมีมูลค่า 8,674.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 5.77 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,278.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอินเดีย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดียได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ 

FTA ไทย-อินเดีย ไทยและอินเดียลงนามในกรอบความตกลงการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 และได้เริ่มลดภาษีสินค้า (Early Harvest Scheme: EHS) จำนวน 82 รายการ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2547 โดยได้ลดภาษีเป็น 0% ในวันที่ 1 กันยายน 2549 และเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ได้มีการลงนามในพิธีสารเพิ่มรายการสินค้าใน EHS 1 รายการและเพิ่มข้อบทเกี่ยวกับ Third Country Invoicing

ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ประกาศร่วมกันที่จะให้มีการบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2556 เมื่อ 26 กรกฎาคม 2555 นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีอินเดีย ขอให้เร่งรัดและผลักดันการเจรจาความตกลง FTA ไทย-อินเดีย และนายกรัฐมนตรีอินเดียมีหนังสือ ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2555 ตอบเห็นพ้องที่จะเร่งรัดกระบวนการเจรจาให้เสร็จสิ้นตามกำหนด) 

การลงทุน มูลค่าการลงทุนของไทยในอินเดียเป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมูลค่าการลงทุนสะสมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543-2553) รวม 81.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีบริษัทไทยที่ลงทุนในอินเดียในสาขาเกษตรและผลิตผลการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และการให้บริการทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการขออนุมัติจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เมืองมุมไบ

การลงทุนของอินเดียในไทยยังมีมูลค่าไม่มาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ในปี 2555 (มกราคม-มิถุนายน) การลงทุนจากอินเดียที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI มีมูลค่าทั้งสิ้น 3, 751.3 ล้านบาท จาก 7 โครงการ ในสาขาผลิตภัณฑ์เกษตร แร่และเซรามิค สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และกระดาษ

การท่องเที่ยว ไทยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวตลาดบนของอินเดียมาใช้บริการด้านสุขภาพ พักผ่อน จัดประชุม สัมมนา ถ่ายทำภาพยนตร์ ตลอดจนการจัดงานแต่งงานในไทย ทั้งนี้ ในปี 2554 มีภาพยนตร์ของอินเดียที่มาถ่ายทำในประเทศไทยจำนวน 107 เรื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 จากปี 2553 นอกจากนี้ ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยจำนวน 1,015,865 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันร้อยละ 11.03

5. ความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง

ไทยและอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียกับอาเซียนแบบรอบด้าน ทั้งทางบก เรือ และอากาศ สนับสนุนการสร้างถนนหลวงสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย และการเชื่อมโยงอินเดียกับท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองทวาย โดยในระหว่างการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24-26 มกราคม 2555 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยการเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน (Working Group on Connectivity and Infrastructure) เพื่อผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้มีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งได้จัดการประชุมคณะทำงานฯ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 โดยฝ่ายอินเดียได้แสดงความสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ โดยไทยและเมียนมาร์ได้ลงนาม MOU on the Comprehensive Development in the Dawei Special Economic Zone และ Related Projected Areas แล้ว 

นอกจากนี้ ได้หารือเพิ่มเติมจากการประชุมคณะทำงานถนนสามฝ่ายในความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือจากโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในกรอบ EWEC และ GMS และเห็นพ้องที่จะจัดสัมมนาเกี่ยวกับโครงการทวายและการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน

6. ด้านวัฒนธรรมและวิชาการ

ไทยและอินเดียมีความผูกพันด้านวัฒนธรรมกันมาตั้งแต่โบราณ โดยในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ และในปัจจุบัน มรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีจากอินเดียยังคงมีอิทธิพลสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ของคนไทย ทั้งทางด้านศาสนา ภาษา วรรณกรรม และศิลปะแขนงต่าง ๆ

รัฐบาลไทยได้เคยเชิญนายรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) นักคิดและ กวีที่มีชื่อเสียงของอินเดียซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลมาเยือนไทยเมื่อปี 1927 ซึ่งต่อมา รพินทรนาถ ฐากูร ได้เขียนกวีนิพนธ์ชื่นชมประเทศไทยและนำไปสู่การจัดตั้งอาศรมวัฒนธรรม ไทย - ภารตะในประเทศไทย

ในปี 1957 (พ.ศ. 2500) รัฐบาลไทยได้สร้างวัดไทยที่พุทธคยาขึ้น เพื่อฉลองวาระ กึ่งพุทธกาล ตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย โดยวัดดังกล่าวสร้างในแบบสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในอินเดีย และปัจจุบันได้มีวัดไทยในอินเดีย หลายแห่งและมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่นิยมเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ไทยและอินเดีย ถือได้ว่ามีปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้น ปัจจุบันมีชาวไทย เชื้อสายอินเดียในประเทศไทยประมาณ 150,000 คน และมีการก่อตั้งสมาคมต่าง ๆ โดยชาวไทย เชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาทิ หอการค้าไทย - อินเดีย อาศรมวัฒนธรรมไทย - ภารตะ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย - อินเดีย สมาคมซิกข์แห่งประเทศไทย สมาคมฮินดูธรรมสภา สมาคมฮินดูสมาช (Hindusamaj) แห่งประเทศไทย สมาคมสตรีอินเดีย เป็นต้น

ไทยและอินเดียได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ตั้งแต่ ปี 1977 ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนอินเดียของ นรม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างปี 2012 – 2014 เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชน

หน่วยงานไทยยังได้จัดโครงการในลักษณะต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความเป็นไทยและ สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนของสองประเทศ อาทิ การอัญเชิญกฐินพระราชทาน ไปทอดถวายที่อินเดียเป็นประจำทุกปี การจัดงาน Destination Thailand/Taste of Thailand เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24 - 26 มกราคม 2012 ไทยได้ประกาศสนับสนุนโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda University) ในรัฐพิหาร เป็นจำนวนเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้แจ้งให้ภาคเอกชนไทยร่วมพิจารณาให้การสนับสนุน ตามความสมัครใจ โดยไทยประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งกำหนดจะเปิดการเรียนการสอน ในปี 2014 ต่อไป

7. ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี

ไทยและอินเดียให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาค และเป็นสมาชิกกรอบ ความร่วมมือพหุภาคีระหว่างกัน หลายกรอบ ที่สำคัญ อาทิ East Asia Summit : EAS / ASEAN Reginal Forum : ARF / BIMSTEC / Mekong – Ganga Cooperation : MGC / India Ocean Rim Association for Regional Cooperation IOR-ARC / World Trade Organization : WTO / และองค์การสหประชาชาติ : UN

ปัจจุบัน ไทยและอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระหว่างไทยและอินเดียกับอาเซียนแบบรอบด้าน ทั้งทางบก เรือ และอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างถนนสามฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย และการเชื่อมโยงอินเดียกับท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ที่เมืองทวาย ในอนาคต

ในระหว่างการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24-26 มกราคม 2012 ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องที่จะจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยการเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน (Working Group on Connectivity and Infrastructure) เพื่อผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้มีผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ การเชื่อมโยงในกรอบอนุภูมิภาค East West Economic Corridor : EWEC / Greater Mekong Sub-region : GMS

อินเดียได้ขอให้ไทยสนับสนุนอินเดียในการรณรงค์เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยเห็นด้วยในหลักการกับอินเดีย โดยเฉพาะในประเด็น การปฏิรูปและขยายจำนวนสมาชิกภาพของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เนื่องจาก ไทยเห็นว่าอินเดียเป็นประเทศในเอเชียที่มีศักยภาพ และไทยสนับสนุนให้เอเชียมีเสียงและตัวแทน ในคณะมนตรีฯ มากขึ้น