ชีค ฮาสินา

ชีค ฮาสินา

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 15,021 view
 
            ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) เป็นบุตรสาวของนายชีค มูจิบู เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) ประธานาธิบดีคนแรกและเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ เกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1947 ที่หมู่บ้าน Tungipara โดยเป็นบุตรสาวคนโตจากพี่น้องทั้งหมดจำนวน 5 คน ชีค ฮาสินา จบการศึกษาด้านวรรณกรรมเบงกาลีจากมหาวิทยาลัยธากา ในปี ค.ศ.1973 ซึ่งในระหว่างที่ศึกษา เธอได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายประการ โดยได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของสหภาพนักศึกษา และเป็นสมาชิกสันนิบาตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธากา ซึ่งทำให้เธอมีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ในด้านชีวิตครอบครัว ฮาสินาได้สมรสกับนายเอ็ม.เอ.วาเจค มิอาห์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เมื่อ ปี ค.ศ.1968 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน เหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่อมา คือการโค่นล้มอำนาจทางการเมืองของนายชีค มูจิบู เราะห์มาน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1975 หลังจากที่มีกลุ่มทหารทำการยึดอำนาจ และจับตัวเขา ภรรยา และบุตรชายอีก 3 คนไปสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม โดยเธอและน้องสาวสามารถรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากอาศัยอยู่นอกประเทศคือ เยอรมันตะวันตกในวันดังกล่าว และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศจากฝ่ายทหาร จากนั้นฮาสินาได้เดินทางไปยังสหราชอาณาจักรและเริ่มจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการบังกลาเทศ ในปี ค.ศ.1980 ก่อนที่ในปีถัดมา เธอจะได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานของพรรคสันนิบาตอะวามี (Awami League) แม้ว่าจะยังคงอยู่นอกประเทศ เพราะต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่กรุงนิวเดลี ก่อนที่จะกลับสู่มาตุภูมิในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1981 รวมระยะเวลาลี้ภัยต่างประเทศประมาณ 6 ปี 
 
ภาพ ชีค มูจิบู เราะห์มาน บิดาของนางชีค ฮาสินา ประธานาธิบดีคนแรก และผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ
 
            อย่างไรก็ตามหลังจากที่กลับสู่บังกลาเทศแล้ว เธอต้องถูกกักบริเวณอีกหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะได้เข้าสู่การเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นในปี ค.ศ.1986 ผลปรากฏว่า เธอได้รับที่นั่งในสภา 3 ที่นั่ง ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่บังกลาเทศก็ได้กลับเข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง ทำให้นางฮาสินาต้องร่วมมือกับนางคาเลดา เซีย (Khaleda Zia) ผู้นำพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh Nationalist Party - BNP) กดดันให้ประธานาธิบดีเผด็จการทหาร คือนายฮุสเซน มูฮัมหมัด เออร์ชาด (Hussain Muhammad Ershad) ให้ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประธานาธิบดีเป็นระบอบรัฐสภา และถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประธานาธิบดีไปสู่นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเออร์ชาดถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1990 ต่อมาเธอได้เป็นผู้นำขบวนการมวลชนประกาศเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสันติวิธี ภายหลังจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1991 นางเซีย ผู้นำพรรคบีเอ็นพีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนนางฮาสินาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกครั้ง และเป็นฝ่ายค้านติดต่อกันถึง 2 สมัย ก่อนที่เธอจะมีบทบาทสำคัญในการนำพาพรรคการเมืองทั้งหมดในรัฐสภากดดันให้นางเซียลาออก และจัดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1996 ผลปรากฏว่าพรรคสันนิบาตอะวามีของนางฮาสินาได้รับเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และทำให้เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1996 โดยนางฮาสินาได้ดึง ส.ส.จากพรรคเล็ก รวมทั้งบางส่วนจากพรรคบีเอ็นพีเข้ามาร่วมในรัฐบาลแห่งชาติ แต่การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ค.ศ.2002 นางฮาสินานำพรรคสันนิบาตอะวามีพ่ายแพ้ต่อพรรคบีเอ็นพีอีกครั้ง และนางเซียได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ก่อนที่จะกลับมาชนะในการเลือกตั้ง ค.ศ.2008 ทำให้นางฮาสินากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เช่นกัน ซึ่งในสมัยนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลายประการระหว่างรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านซึ่งรอวันที่จะปะทุออกมา 
 
ภาพ ด้านซ้าย คาเลดา เซีย ผู้นำพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ 
ตรงกลาง นายกรัญมนตรีชีค ฮาสินา 
ด้านขวา ฮุสเซน มูฮัมหมัด เออร์ชาด อดีตประธานาธิบดีบังกลาเทศ 
 
            สถานการณ์ล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ.2014 ที่ผ่านมา มีการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 10 ผลปรากฏว่าพรรคสันนิบาตอะวามีของนางฮาสินาและพรรคร่วมรัฐบาลสามารถคว้าชัยชนะและได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดตามที่มีการคาดการณ์ โดยได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 232 จาก 300 ที่นั่ง แม้ว่า 153 ที่นั่งที่ได้รับจะมาจากการลงสมัครเพียงพรรคเดียวก็ตาม ท่ามกลางเหตุการณ์นองเลือดซึ่งมีผู้เสียชีวิตในวันเลือกตั้งจำนวน 26 คน ภายหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง นางฮาสินาและคณะรัฐมนตรีได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.2014 และยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรม แม้ว่าจะถูกฝ่ายค้านและพันธมิตรคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้มีรัฐบาลรักษาการมาดูแลให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งจะต้องจับตามองกันต่อไปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะถือเป็นโมฆะตามความต้องการของพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ และจะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นหรือน้อยลงไม่เพียงใด 
 
          
          
ภาพ สถานการณ์ความไม่สงบในบังกลาเทศ และภาพบรรยากาศการเลือกตั้ง 
 
            อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การเมืองจะยังคงมีความขัดแย้ง แต่ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 2 สมัยแรก นางฮาสินา ก็ได้ริเริ่มนโยบายหลายประการเพื่อพัฒนาประเทศในภาพรวม รวมทั้งการบรรเทาปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน และสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กที่มีฐานะยากจน นอกจากนั้นรัฐบาลของฮาสินายังประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญาแบ่งปันน้ำในแม่น้ำคงคากับอินเดีย ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของปัญหาความขัดแย้งในระดับภูมิภาคที่มีความซับซ้อนสูง รวมทั้งการลงนามข้อตกลงสันติภาพจิตตะกอง ทำให้ช่วยบรรเทาปัญหาความในสงบในพื้นที่จิตตะกอง ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปี และการเปิดสะพาน Bangabandhu ที่แม่น้ำยมุนา แม้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นจะต้องประสบปัญหาในด้านข้อจำกัดของทรัพยากรในประเทศ และการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้งก็ตาม นางฮาสินายังได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำจากการริเริ่มจัดการประชุมระหว่างผู้นำทางการเมืองและตัวแทนจากภาคเอกชนของบังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือมิติใหม่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียใต้ และมีบทบาทในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียและปากีสถาน 
 
            ตลอดเส้นทางทางการเมืองของนางฮาสินา สามารถกล่าวได้ว่าเธอเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพ เสรีภาพ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่เยาว์วัย เนื่องจากเธอได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากอุดมคติอันสูงส่งและความรักที่มีต่อประชาชนของบิดาเธอ ผู้ปลดปล่อยบังกลาเทศให้เป็นประเทศเอกราชโดยสมบูรณ์ ทำให้เธอได้เรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม เห็นได้จากการที่เธอมักจะต่อต้านการกดขี่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เสมอ เธอได้ต่อสู้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เพื่อให้ประเทศบังกลาเทศกลับมามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมุ่งมั่นในการผลักดันให้รัฐสภาเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในระดับชาติทั้งหมด นางฮาสินายังเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพคนสำคัญทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นของเธอในการประชุมระดับระหว่างประเทศหลายครั้ง โดยเฉพาะการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM) ครั้งที่ 12 ที่ประเทศแอฟริกาใต้เกี่ยวกับแนวคิดวัฒนธรรมสันติภาพ ซึ่งข้อริเริ่มของเธอได้นำไปสู่ข้อมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เรื่องวัฒนธรรมสันติภาพ (Culture of Peace) นอกจากนั้น นางฮาสินายังได้มุ่งเน้นการให้สิทธิสตรี ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจน โดยเธอสามารถผลักดันร่างกฎหมายที่กำหนดให้สตรีสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองในหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ นำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งเปิดโอกาสให้สตรีกว่า 14,000 คน เข้ามาอยู่ในหน่วยงานเหล่านี้ ในปี ค.ศ.1997 อีกทั้งเธอได้ริเริ่มโครงการที่สำคัญหลายประการเพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กผู้หญิงอย่างทั่วถึงทั้งในประเทศของเธอและในระดับโลก 
 
 
 
 ธนาศักดิ์ สามัญ 
ณพนระ กุลรกัมพุสิริ 
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 
มกราคม 2557 
 
 
อ้างอิง 
http://thaipublica.org 
http://en.wikipedia.org 
http://www.thairath.co.th 
http://www.bangladesh.gov.bd 
http://www.bangkokbiznews.com 
http://www.virtualbangladesh.com 
 
ภาพจาก 
http://my.opera.com/shuzauddin/blog 
http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hussain_Muhammad_Ershad_2010.JPG 
http://probirbidhan.wordpress.com/2012/04/01/irrational-comment-once-again 
http://newsweekpakistan.com/sheikh-hasina-sworn-in-as-bangladeshs-prime-minister 
http://www.presstv.ir/detail/2014/01/06/343931/ruling-party-leads-in-bangladesh-vote 
http://www.presstv.ir/detail/2014/01/05/343902/bangladesh-polls-close-amid-violence 
http://onlinenewsunitedkingdom.com/world/2014/01/04/bangladeshs-bitter-election-boycott 
http://www.reuters.com/article/2014/01/06/us-bangladesh-election-idUSBREA0301N20140106 
http://www.islamicinvitationturkey.com/2014/01/05/at-least-11-killed-in-bangladesh-election-violence 
http://www.thehindu.com/news/international/south-asia/hasina-firm-on-parliaments-extension/article5233359.ece