อินทผลัม

อินทผลัม

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 24,960 view
           อินทผลัมเป็นหนึ่งในผลไม้เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปี และมีบันทึกเกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆ หลายศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังสามารถเจริญเติบโตในบริเวณที่มีอากาศร้อนหรือแห้งแล้งได้เป็นอย่างดีและมีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น พร้อมทั้งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลอดจนมีคุณค่าทางโภชนาการ
 
ลักษณะทั่วไป
 
            อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม มีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้น 30 ถึง 50 เซนติเมตร ใบจะเรียบในลักษณะคล้ายกับขนนกและพุ่งออกหลายทิศทาง ดอกจะเป็นช่อและอยู่บริเวณโคนก้าน ในภาษาอังกฤษ อินทผลัมคือ Date Palm แต่ ในภาษาอาหรับอินทผลัมมีหลายคำ เช่น อัลบะละฮฺ (لَحُ) หมายถึงผลของอินทผลัมที่ยังไม่สุก อัรรุฏ่อบุ้ (الرُّطَبُ) หมายถึงผลของอินทผลัมที่สุดแล้ว ตัมรฺ (تَمْرٌ) หมายถึง อินทผลัมแห้งที่มีการซื้อขายในตลาด นอกจากนี้ยังเรียกอินทผลัมตามสายพันธุ์อีกด้วย เช่น ซุกกะรีย์ (سُكَّرِي) อัจญ์วะฮฺ (عَجْوَة) ซึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการเพาะปลูกและการบริโภคมีดังต่อไปนี้
 
 
1. พันธุ์ Barhee มีถิ่นกำเนิดในอิรัก ปัจจุบัน มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศเหมาะกับการกินผลสดและได้รับการยกย่องให้เป็นแอปเปิ้ลแห่งตะวันออกกลาง
 
 
 
 
2. พันธุ์ Deglet Noor มีถิ่นกำเนิดในแอลจีเรียและตูนีเซีย เหมาะกับการกินผลแห้งและมีการส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งอินทผลัม เพราะมีรสชาติไม่หวานมากและไม่แข็งกระด้าง
 
 
 
 
 
 
3.พันธุ์ Mejhool มีถิ่นกำเนิดในโมร็อกโก เหมาะกับการกินผลแห้งและได้รับการยกย่อง ให้เป็นราชินีแห่งอินทผลัมเช่นเดียวกับพันธุ์ Deglet Nour เพราะผลมีขนาดใหญ่ที่สุดและรสชาติหวานมาก
 
            
 
 
 
 4.พันธุ์ Khonaizi ไม่ปรากฏถิ่นกำเนิดอย่างแน่ชัด แต่เกษตรกรในโอมานนิยมปลูกพันธุ์นี้เพราะทนต่อความร้อนและความแห้งแล้ง
 
                
 
 
 
 
 
5.พันธุ์ Ajwah มีถิ่นกำเนิดในซาอุดีอาระเบีย เหมาะกับการกินผลแห้งและปรากฏใน คัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับพันธุ์อื่นๆ เพราะมีเนื้อเหนียวและไม่ค่อยหวาน
 
 
 
                
 
 
 
6.พันธุ์ Khalas มีถิ่นกำเนิดในซาอุดีอาระเบีย ได้รับการยกย่องให้เป็นสายพันธุ์ที่อร่อยที่สุด เพราะมีเนื้อเหนียวและนิ่ม
 
 
ไทยมีการปลูกอินทผลัมหลายสายพันธุ์ แต่เริ่มเพาะปลูกสำเร็จครั้งแรกที่สวนโกหลักของ   ดร. ศักดิ์ ลำจวน อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม Khalas เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทย
 
ประวัติความเป็นมา 
 
            อินทผลัมไม่ปรากฏถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด แต่มีการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัย อารยธรรมเมโสโปเตเมียประมาณ 3,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช การเพาะปลูกได้แพร่ขยายไปยังคาบสมุทรอาหรับ ตอนเหนือของแอฟริกา และตะวันออกกลาง ในช่วง 2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวอียิปต์นำอินทผลัมไปเพาะปลูก หลังจากนั้นชาวสเปนนำอินทผลัมจากคาบสมุทรอาหรับ แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และตอนใต้ของเอเชีย ไปยังสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ อินทผลัมยังเกี่ยวข้องกับหลายศาสนา เช่น ยูดาย คริสต์ และอิสลาม แต่มีบทบาทต่อศาสนาอิสลามมากที่สุดและแพร่ขยายพร้อมกับศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมเชื่อว่า อินทผลัมเป็นผลไม้ที่พระเจ้าประทานให้แก่มวลมนุษย์    ในคัมภีร์อัลกุรอานมีการบันทึกเกี่ยวกับอินทผลัม โดยใช้คำในลักษณะหลายรูปแบบและอยู่หลายตำแหน่ง ได้แก่ อันนัคลุ้ (اَلنَّخْلُ) 10 แห่ง นัคลัน (نَخْلاً ) 1 แห่ง ในบทอะบะสะ อายะฮฺที่ 29 อันนัคละฮฺ (اَلنَّخْلَةُ) 2 แห่ง ในบทมัรยัม อายะฮฺที่ 23 และ 25 และนะคีล (نَخِيْل) 7 แห่ง เช่น   ในบทซูเราะฮฺ มัรยัม อายะฮฺที่ 25 อัลลอฮฺทรงตรัสกับนางมัรยัมว่า “เธอ (มัรยัม) จงเขย่าต้นอินทผลัม ให้มันเอนมาทางตัวเธอ มันจะหล่นลงมาที่ตัวเธอเป็นอินทผลัมที่สดและสุกน่ากิน”
 
สรรพคุณและประโยชน์ของอินทผลัม 
 
           ชาวมุสลิมนิยมกินและให้อินทผลัมเป็นของขวัญช่วงเดือนรอมฎอน เนื่องจากนบีมูฮัมหมัดส่งเสริมให้ชาวมุสลิมละศีลอดด้วยการกินอินทผลัมกับน้ำเปล่า โดยนบีมูฮัมหมัดเคยกล่าวไว้ว่า “หากผู้หนึ่งผู้ใดถือศีลอด ก็ขอให้เขาละศีลอดด้วยอินทผลัม แท้จริงน้ำเปล่านั้นทำให้สดชื่น” รวมทั้งยังสนับสนุนให้ชาวมุสลิมกินอินทผลัมสดควบคู่กับอินทผลัมแห้ง เพราะอินทผลัมสดเป็นของเย็น      ส่วนอินทผลัมแห้งเป็นของร้อน เพื่อทำให้เกิดความสมดุลในร่างกายของมนุษย์ นอกจากนี้ชาวมุสลิมยังเชื่อว่า อินทผลัมสามารถป้องกันไสยศาสตร์และยับยั้งพิษต่างๆ ได้ โดยต้องกินวันละ 7 เม็ด   วงการแพทย์แผนปัจจุบันค้นพบว่า อินทผลัมประกอบด้วยน้ำมัน แคลเซียม วิตามิน A วิตามิน B1 วิตามิน B2 วิตามิน B6 วิตามิน K ซัลเฟอร์ เหล็ก และโพแทสเซียม รวมทั้งมีสรรพคุณทางยา ดังนี้  ในระบบโครงกระดูก อินทผลัมป้องกันโรคกระดูกพรุนและบำรุงฟัน ในระบบไหลเวียนโลหิต อินทผลัมป้องกันโรคหลอดเลือดในสมองและโรคความดันโลหิตสูง ในระบบย่อยอาหาร อินทผลัมป้องกันอาการท้องผูกพร้อมกับฆ่าเชื้อโรคต่างๆ พยาธิ และสารพิษที่ตกค้าง ในระบบสืบพันธุ์ อินทผลัมเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนั้น อินทผลัมยังสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรกินเป็นอย่างยิ่ง เพราะอินทผลัมขยายมดลูกช่วงคลอดบุตร ลดอาการตกเลือดหลังการคลอดบุตร และเพิ่มสารอาหารสำคัญในน้ำนม ทำให้บุตรมีร่างกายแข็งแรง  
 
นางสาวกรวัลลิ์ อัศวสุวรรณ
นักศึกษาฝึกงาน
2 สิงหาคม 2559