จานักปูร์

จานักปูร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,162 view
           นางขันธ์ทอง อูนากูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ และนางจิราพร สุดานิช อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เดินทางไปยังเมืองจานักปูร์ (Janakpur) เมื่อวันที่ 5 - 6 พฤษภาคม 2556 พร้อมด้วยพระภิกษุอีก 2 รูปคือ พระมหาสุพจน์ กิตติวัณโณ เลขานุการวัดไทยลุมพินี และพระมหาสมัย จากวัดไทยฯ เช่นกัน โดยมูลเหตุของการเดินทางในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสานต่อโครงการสร้างฌาปนสถาน ให้กับประชาชนของเมือง ดังที่ เอกอัครราชทูต (ออท.) มาริษ เสงี่ยมพงศ์ได้ริเริ่มไว้ นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Ram BaranYadav แห่งเนปาลก็ได้ปรารภกับ ออท.อีกครั้ง ถึงเรื่องการพัฒนาจานักปูร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ในระหว่างที่ ออท. เข้าเยี่ยมคารวะเพื่อยื่นพระราชสาส์นตราตั้งเมื่อกลางปี 2555 กอปรกับภาคเอกชนไทยก็พร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และวัดไทยลุมพินีก็พร้อมผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าไป เราจึงไปสำรวจสถานที่ร่วมกัน 
 
นางขันธ์ทอง อูนากูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ เข้าเยี่ยมคารวะ ประธานาธิบดี Ram BaranYadav แห่งเนปาล 
 
            จานักปูร์ (Janakpur) ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเนปาล อยู่ห่างจากอินเดียเพียงแค่ 20 กิโลเมตร แต่ถ้าจะเดินทางมาจากกาฐมาณฑุซึ่งห่างกันกว่า 400 กิโลเมตร วิธีที่ง่ายที่สุดคือทางเครื่องบิน ซึ่งมีสายการบินในประเทศบินมาจานักปูร์ทุกวัน และใช้เวลาบินเพียง 25 นาทีเท่านั้น 
 
            ลักษณะภูมิประเทศของจานักปูร์จะต่างกับหลาย ๆ เมืองสำคัญที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเนปาล ตรงที่ จานักปูร์เป็นที่ราบโดยรอบ ไม่มีภูเขา แต่มีแหล่งน้ำอยู่ทั่วไป จึงมีความชุ่มชื้น และเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญญาหารที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะมะม่วงจากจานักปูร์ ซึ่งหวานอร่อยและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและมะม่วงจานัก ปูร์นี้เองที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีตอนที่เกี่ยวกับมะม่วงคือ พระมหาชนกได้พระราชทาน 9 วิธีฟื้นฟูต้นมะม่วงให้กับชาวเมือง
 
            บางคนอาจจะสงสัยว่า จานักปูร์เกี่ยวข้องกับพระมหาชนกอย่างไร 
 
            จานักปูร์ก็คือเมือง "มิถิลา" หรือมิถิลานครในชาดกและในพระราชนิพนธ์ หากจะกล่าวให้ลึกลงไปอีก คำว่า Janak มาจากคำว่า "ชนก" คำว่า "Pur" มาจาก "ปุระ" ซึ่งแปลว่า "เมือง" จานักปูร์จึงมีความหมายว่า "เมืองแห่ง 
พระชนก" นั่นเอง ซึ่งเราจะค่อย ๆ เล่าถึงเรื่องนี้ต่อไป 
 
          
ภาพด้านซ้าย: ภาพแรกที่เห็นในเมืองจานักปูร์ 
ภาพด้านขวา: ด้านหน้าโรงแรม Welcome
 
            เมื่อเราไปถึง เทศบาลเมืองจานักปูร์ได้จัดขบวนรถมารับอย่างเอิกเกริก มีรถตำรวจนำ (ให้ความรู้สึกเหมือนเดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีผิด) ซึ่งมีนายตำรวจรักษาความปลอดภัย 6 นาย และ PSO ประจำตัว ออท. หน้าตาขึงขัง 1 คน ตามประกบไม่ห่าง ขบวนรถพาเราไปถึงโรงแรม "Welcome" ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักที่ดีที่สุดของเมือง (!) เปิดมาได้เพียงปีครึ่ง แต่สภาพอากาศที่ร้อนชื้นและการปรับปรุงต่อเติม ทำให้โรงแรมมีสภาพที่ดูเก่า เจ้าของโรงแรมยืนยันกับเรา (ด้วยความภาคภูมิใจ) ว่า มีการจองห้องเต็มถึง 90 % และได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ยุโรป และจีน อย่างสม่ำเสมอ 
 
ภาพการประชุมกับผู้แทนของเมืองจานักปูร์
 
            เราได้ประชุมกับผู้แทนจากเทศบาลจานักปูร์ วิศวกร นักธุรกิจ และสื่อมวลชน รวม 15 คน ที่โรงแรมที่พัก โดยผู้แทนจานักปูร์ได้เริ่มด้วยการพูดถึงข้อเสนอโครงการพัฒนาจานักปูร์ถึง 9 โครงการ และยืนยันว่า ได้ส่งข้อเสนอทั้ง 9 ให้เราเมื่อหลายเดือนก่อน ผ่านกระทรวงพัฒนาท้องถิ่นของเนปาล ซึ่งเราไม่เคยได้รับมาก่อน อย่างไรก็ดี เราก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือตอบรับในช่วงของการหารือ แต่เราได้ขอให้พิจารณาโครงการที่เคยมีการหารือกันมาก่อนหน้านี้คือ การสร้างฌาปนสถานให้แก่ชาวเมืองจานักปูร์เป็นโครงการแรก และเมื่อเห็นประโยชน์ของโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว เราจึงจะพิจารณาโครงการอื่น ๆ เป็นลำดับต่อไป ซึ่งผู้แทนเทศบาลฯ ได้แสดงความเข้าใจ และขอบคุณเราในที่สุด 
 
ภาพการเข้าสำรวจที่ดิน 
          
            จากนั้น ก็ถึงเวลาสำรวจสถานที่และเมืองนี้อย่างจริงจัง ฝ่ายเนปาลพาเราไปดูที่ดิน 2 แห่ง สำหรับสร้างฌาปนสถาน และได้พาไปดูฌาปนสถานที่คุณ BawanSingha Yan นักธุรกิจชาวจานักปูร์ได้รวบรวมเงินบริจาคจากประชาชนมาสร้างไว้ ซึ่งในที่สุด เราก็ตกลงกันว่า จะช่วยสนับสนุนต่อยอดการก่อสร้างฌาปนสถานที่มีอยู่เดิมแล้วของคุณ Bawan เสียก่อน ซึ่งยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะการทำหลังคากันฝนของฌาปนสถานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน รวมทั้งการสร้างฌาปนสถานสำหรับเด็กแยกต่างหาก ซึ่งเราก็ได้ย้ำขอให้เทศบาลเมืองจานักปูร์ส่งรายละเอียดโครงการพร้อมงบ ประมาณสำหรับการปรับปรุงฌาปนสถานแห่งนี้ให้เรา เพื่อที่เราจะได้ประสานกับวัดไทยลุมพินีและระดมทุนจากนักธุรกิจที่สนใจและมี กำลังสนับสนุนต่อไป ซึ่งการต่อยอดฌาปนกิจสถานแห่งนี้ต้องถือว่าเป็นโครงการระดับประชาชนต่อ ประชาชนอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐ และใช้เวลาไม่นานที่จะเห็นผลด้วย หลังจากนั้น เราจะได้พิจารณาโครงการอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเมืองต่อไป 
 
ภาพบรรยากาศตัวเมืองยามเย็น 
  
            เราใช้เวลาในช่วงบ่ายสำรวจเมืองต่อ และเห็นว่าเมืองมีฝุ่นมาก ไม่ต่างจากกาฐมาณฑุนัก เพียงแต่มีความชื้นมากกว่าทำให้ฝุ่นเจือจาง และมีถนนสายเดียวที่เป็นถนนลาดยางวิ่งผ่านเมือง เท่าที่สังเกต ไม่มีรถโดยสารสาธารณะ แต่มีสามล้อถีบมีหลังคาคลุม และเมื่อเข้าไปในใจกลางเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับโรงแรมที่พักของเรา ก็เห็นว่ามีร้านค้าเปิดอย่างแน่นขนัด 2 ข้างถนน โดยเฉพาะร้านขายเสื้อผ้า และเครื่องไฟฟ้าซึ่งนำเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งทำให้เรารู้สึกแปลกใจ เพราะได้รับคำเตือนก่อนจะมาว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่ยากจนที่สุดเมืองหนึ่งของเนปาล แต่เมื่อสอบถามคนที่นี่ ก็ได้ทราบว่า ด้วยความยากจน ทำให้ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานของเมืองออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ คนเหล่านี้ได้ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวที่อยู่ทางนี้จับจ่ายใช้สอย จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เหตุใดเศรษฐกิจของเมืองจึงค่อนข้างคึกคัก 
 
            ระหว่างทางออกนอกเมือง เราได้เห็นว่ามีการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อย โดยเฉพาะแพะซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของเมือง และหมูป่า ซึ่งตอนที่ได้เห็นมันวิ่งเล่นอย่างร่าเริงอยู่ใจกลางเมือง เราก็ตั้งข้อสังเกตกับ PSO เนปาลซึ่งนั่งอยู่ด้านหน้ารถเราว่า หมูที่นี่ตัวใหญ่ดีจัง คุณทานมันด้วยสินะ คุณ PSO ปฏิเสธเสียงหลง เมื่อรู้สึกตัว ก็เชิดหน้า และพูดด้วยน้ำเสียงแข็ง ๆ ว่า "Only the low caste eats it. We are high caste. We don't eat it. We don't even touch it" คำตอบนี้ทำให้เราหันมามองหน้ากัน นึกในใจว่า งั้นเราคงเป็น "low caste" ละมัง เพราะเราก็กินหมูเป็นอาหารหลัก แถมยังชอบเสียด้วย! 
 
ภาพแรงงานสำคัญของเมือง
 
            พอเข้าเขตหมู่บ้านนอกเมืองถนนลาดยางก็เปลี่ยนเป็นถนนดินแดงและโรยกรวด มีหลุมบ่ออยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่ผ่านไปมาใช้เกวียนเป็นพาหนะ เมื่อเราได้เห็นเกวียนเทียมวัวก็รู้สึกแปลกใจนิด ๆ ไม่ใช่เพราะไม่เคยเห็นวัว แต่เพราะไม่เคยเห็นสัตว์ที่คนเนปาลบูชาว่าเป็นพาหนะแห่งพระศิวะมหาเทพมาใช้ แรงงานอย่างหนักขนาดนี้ (โดยเฉพาะในกาฐมาณฑุที่แม้จะเป็นเมืองหลวง แต่ประชากรวัวก็แสดงให้เราเห็นว่า เขานี่แหละเจ้าของประเทศตัวจริง เพราะใช้ถนนได้อย่างชนิดที่ประชากรคนต้องยอมหลบให้) ส่วนใหญ่เราจะเห็นคนทั่วไปใช้ควายเป็นพาหนะในการเทียมเกวียน ไถนา ฯลฯ จนเมื่อพูดคุยกับคน จานักปูร์จึงได้รู้ว่า แม้จะเป็นฮินดูเหมือนกัน แต่คนที่นี่นับถือไวษณวนิกาย ซึ่งบูชาพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ผิดกับคนเนปาลส่วนมากที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวะนิกาย ซึ่งบูชาพระศิวะ ทั้งนี้ เพราะเชื่อกันว่า มิถิลานครแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงานของนางสีดากับพระราม หรืออวตารของพระนารายณ์ ตามมหากาพย์รามายณะ หรือรามเกียรติ์ของไทยนั่นเอง 
 
            ตำนานความรักของพระรามกับนางสีดาที่เกิดขึ้นที่เมืองมิถิลาแห่งนี้ ทำให้เราไม่ลังเลที่จะให้ชื่อจานักปูร์ว่า "โรแมนติกนคร
 
            ทุกปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม จานักปูร์จะจัดเทศกาล "วิวาหะ ปัญจมี" (Vibhaha Panchami) เพื่อระลึกถึงพิธีแต่งงานระหว่างพระรามกับนางสีดา นักท่องเที่ยวจากอินเดียและเนปาลนับแสนคนจะเดินทางมาร่วมพิธีดังกล่าว และมาสักการะวัด Janaki ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญของชาวฮินดู วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่า "Janaki" ซึ่งหมายถึง ธิดาของพระชนก หรือนางสีดา เพราะเชื่อกันว่า ณ ที่ที่มีการสร้างวัดนี้ เป็นจุดที่พระชนก (คนละคนกับพระมหาชนกในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกข้างต้น) กษัตริย์มิถิลา ได้พบนางสีดาซึ่งเป็นทารก ผุดขึ้นมาจากรอยไถ ระหว่างทำพิธีแรกนาขวัญ จึงถือว่า นางสีดาได้ถือกำเนิดที่เมืองมิถิลานี้ 
 
            วัด Janaki ถือเป็น landmark ที่สำคัญของเมือง สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1911 ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบ "ฮินดู-ราชบุตร" ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนเหนือ มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาท 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ขณะที่ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องของนางสีดา มีข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย และหุ่นจำลองที่เคลื่อนไหวได้โดยจัดฉากเป็นตอน ๆ ตั้งแต่กำเนิดของนางสีดา ไปจนถึงพิธี ยกศรเลือกคู่ ตามเนื้อเรื่องในรามายณะ 
 
ภาพบรยากาศภายในวัด Janaki
 
            เราทำทักษิณาวัตรรอบวัดดังกล่าว 1 รอบก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในสถานที่ประกอบพิธีหลังจากที่มีการทำ วัตรเย็นไปแล้ว นักบวชได้เจิม Tikka ซึ่งทำจากเมล็ดข้าวย้อมสีแดงที่หน้าผากให้เรา และมอบดอกไม้ที่ใช้ประกอบพิธีให้คนละดอก ภายในสถานที่ประกอบพิธี (ซึ่งห้ามถ่ายภาพ) มีหิ้งบูชาขนาดใหญ่ทำด้วยเงินแท้ ๆ ขนาดน่าจะหลายตันอยู่ แกะสลักลวดลายสวยงาม และน่าจะได้รับการขัดถูอย่างสม่ำเสมอจึงไม่เกิดรอยดำ บนหิ้งมีหุ่น จำลองของพระราม พระลักษณ์ นางสีดา และหนุมาน ซึ่งชาวฮินดูนับถือเสมือนเป็นเทพเจ้า ด้านหน้ามีลูกกรงกั้นไว้ คนที่มากราบไหว้จะทำได้เพียงจุดเทียนและโปรยดอกไม้จากด้านนอกเท่านั้น บรรยากาศภายในศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง แต่ไม่อึดอัด เราได้รู้มาว่า โดยปกติเขาจะไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปถึงข้างในขนาดนี้ ยกเว้นก็แต่บุคคลสำคัญเท่านั้น 
 
            เมื่อเราเดินออกไปนอกวัดไม่ไกลนัก ก็เห็นศาลาทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่อยู่ภายในสวนที่ร่มรื่น ภายในมีการจำลองพิธีแต่งงานของพระรามกับนางสีดา และทั้งสี่มุมของศาลาจะมีหุ่นจำลองของพระราม และพี่น้องอีก 3 องค์ และพระมเหสีของแต่ละองค์ โดยมีการตั้งแท่นบูชาเอาไว้ในแต่ละมุมด้วย หลังจากได้เห็นแล้วเราก็รู้สึกว่า หากได้อ่านรามเกียรติ์ หรือมหากาพย์รามายณะก่อนหน้านี้ น่าจะทำให้สนุกกับการเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ได้มากกว่านี้เป็นแน่ 
 
 
            จานักปูร์มีสระน้ำหลายแห่ง ซึ่งชาวเมืองได้ใช้ประโยชน์ในการบริโภค ไปจนถึงการประกอบพิธีทางศาสนา แต่เมื่อเราเห็นสภาพน้ำซึ่งค่อนข้างขุ่น สกปรก และไม่มีการถ่ายเทที่ดี ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ทำให้นึกไปถึง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" สิ่งประดิษฐ์จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในหลายพื้นที่ของไทย ว่า น่าจะช่วยทำให้แหล่งน้ำของจานักปูร์สะอาด ไร้มลพิษ และเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาจานักปูร์ได้ ไม่ยาก อีกทั้งจะเป็น win-win situation เพราะนอกจากจานักปูร์จะได้แหล่งน้ำที่สะอาดแล้ว ยังจะเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แผ่ไพศาล ไปในระดับโลก ให้ชาวเนปาลได้ตระหนักอีกด้วย 
 
            เย็นนั้น คณะผู้แทนของเทศบาลเมืองจานักปูร์ รวมทั้งบุคคลที่เราได้พบทั้งหมดในวันนี้ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่เรา มีคนมาร่วมงานกว่า 20 คน มีเราเพียง 2 คนที่เป็นคนไทย ผู้แทนฝ่ายเนปาลได้กล่าวขอบคุณ ออท. และฝ่ายไทยที่จะช่วยพัฒนาเมืองจานักปูร์ และได้มอบของที่ระลึกให้เรา คือภาพเขียน "ศิลปะมิถิลา" หรือ Mithila Art อันเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล คนละ 1 ภาพ 
 
            หากมาที่จานักปูร์แล้วไม่ได้ไปเยี่ยมชม "ศิลปะมิถิลา" แล้ว ก็คงต้องถือว่า มาไม่ถึงจานักปูร์ซึ่งตามประสาผู้รักศิลปะอย่างเราแล้ว ก็คงไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นแน่ ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น เราจึงได้ขอไปเยี่ยมชมศิลปะดังกล่าวก่อนที่จะเดินทางกลับ 
 
 
            ศิลปะมิถิลาได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนเหนือ เดิมเป็นการวาดภาพด้วยนิ้วมือ และกิ่งไม้ ลงบนปูนเปียก และบนพื้นดิน ใช้สีที่ทำจากธรรมชาติ ขณะที่ปัจจุบัน ศิลปินจะใช้ปากกาหรือพู่กัน เขียนภาพลงบนกระดาษสา ผ้า หรือบนเครื่องปั้นดินเผา โดยใช้สีน้ำมันบ้าง acryllic บ้าง ภาพที่เขียนหลัก ๆ จะเป็นภาพในชีวิต ประจำวันของคน คนกับธรรมชาติ ดอกไม้ สัตว์ พิธีทางศาสนาต่าง ๆ ลักษณะของภาพจะมีสีสันสดใส มี 2 มิติ ไม่มีความลึก แสดงภาพด้านข้าง (side view) และภาพด้านหน้า (profile view) ของวัตถุของภาพ ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกับภาพเขียนของอียิปต์โบราณ ปัจจุบัน ศิลปะมิถิลาได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศทั้งในด้านการ เงิน การบริหารจัดการ และเทคนิค ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่ทำให้ศิลปะมิถิลาแตกต่างจากศิลปะของที่อื่น ๆ ก็คือ มันเป็นศิลปะของผู้หญิง!!! และที่พิเศษไปกว่านั้น คือ ผู้หญิงมิถิลารังสรรค์ศิลปะนี้ขึ้นในขณะที่เธอตั้งครรภ์!! 
 
            ว่ากันว่า ศิลปะมิถิลาไม่มีการสอนในโรงเรียน แต่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากยายสู่แม่ จากแม่สู่ ลูกสาว นั่นคือจะถ่ายทอดให้กับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมต้องเป็นผู้หญิง ยังคงคลุมเครือ บ้างก็ว่า สมัยก่อน ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอกเหมือนผู้ชาย อีกทั้งไม่ได้รับการศึกษา จึงใช้เวลาว่างผ่อนคลายด้วยการเขียนภาพ แทนการอ่านหนังสือ หรือหย่อนใจด้วยวิธีอื่น ๆ ส่วนสาเหตุของการวาดภาพในช่วงที่เธอตั้งครรภ์นั้น ก็เพื่อให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และว่ากันว่า ตอนมีครรภ์นี่แหละที่จะวาดรูปได้สวยงาม เพราะนึกถึงลูกในท้องไปด้วย 
 
            ศูนย์กลางศิลปะมิถิลา อยู่ระหว่างทางจากใจกลางเมืองก่อนจะถึงสนามบิน เพียง 5 นาที ตรงทางเข้ามีป้ายบอกชื่อศูนย์ และป้ายชื่อผู้สนับสนุน ซึ่งจากที่เห็นมีทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น EU และออสเตรเลียเป็นหลัก เมื่อเข้าไปด้านในจะมีลานกว้างกลางแจ้ง ล้อมรอบด้วยอาคารชั้นเดียว ทอดยาวติดกัน 4 อาคาร เป็นรูปครึ่งวงกลม ในแต่ละอาคารจะเป็นห้องแยกย่อย อาคารหลังแรกเป็นอาคารวาดภาพเขียนศิลปะมิถิลา อีกอาคารเป็นอาคารย้อมผ้า และอาคารเครื่องปั้นดินเผา ตรงกลางจะเป็นร้านขายผลงาน มีสมุดลงนามรวมทั้งจดหมายแสดงความคิดเห็นของผู้ที่เคยมาเยี่ยมชม ซึ่งเราเห็นว่า มีจดหมายจากนางฮิลลารี คลินตัน เมื่อสมัยยังดำรงตำแหน่ง first lady แสดงความขอบคุณรัฐบาลเนปาลที่ได้พามาเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะแห่งนี้ ติดอยู่ด้วย 
 
            เราช่วยอุดหนุนของที่ระลึกจากศูนย์ฯ โดยพระอาจารย์สุพจน์ได้ภาพเขียนมากว่า 10 ภาพ ท่านบอกว่าจะเอาไปติดที่โรงเรียนที่วัดไทยลุมพินีให้ความช่วยเหลือในการจัด สร้าง ซึ่งหากใครจะมาแสวงบุญ ก็อาจแวะไปเยี่ยมชมได้ จะได้รู้ว่าศิลปะมิถิลาหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนใครที่มากาฐมาณฑุ และหวังจะหาซื้อได้ที่ย่าน Thamel ก็คงต้องผิดหวัง เพราะมีที่ทำเนียบ ออท. ที่เดียวเท่านั้น! 
 
            ความประทับใจที่ได้รับจากจานักปูร์ ซึ่งแม้จะได้เห็นและสัมผัสเพียง 1 วันเต็ม ๆ แต่ก็ทำให้เราได้ข้อคิดที่แอบแฝงภายใต้คราบความยากจนของเมือง โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นนางสีดา ผู้หญิงที่ได้รับการยกย่องประหนึ่งเทพเจ้า ผู้หญิงชาวเมืองที่ต้องออกไปใช้แรงงานในต่างประเทศ ผู้หญิงชาวบ้านที่รังสรรค์ผลงาน สวย ๆ อย่างมิถิลาอาร์ท ผู้หญิงเหล่านี้แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองที่แท้จริง 
 
            สิ่งที่เราได้คิดต่อยอดต่อไปจากเรื่องนี้ก็คือ จานักปูร์เป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปได้อีกมากมายหลายสาขา โดยอาศัย gimmick ที่เชื่อมโยงกับตำนานความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งหากได้มีการแบ่งปันประสบการณ์ในลักษณะ best practice กับไทย ก็น่าจะช่วยให้เมืองได้พ้นจากสภาพการเป็นเมืองที่ยากจนที่สุดของเนปาล ไม่ว่าจะเป็น (1) การพัฒนาด้านการเกษตร อาทิ การพัฒนาพันธุ์มะม่วงที่มีชื่อเสียงของเมืองให้สามารถผลิตได้ทั้งปี (เราไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสมะม่วงจานักปูร์ในครั้งนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ฤดูมะม่วง) หรือการพัฒนาแหล่งน้ำของเมือง (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาทิ การจัดงานแต่งงานในตำนาน เหมือนกับงานแต่งงานของพระรามกับนางสีดา หรือการส่งเสริมศิลปะแบบมิถิลาเพื่อเป็นจุดขายของเมือง เป็นต้น 
 
ภาพภายในห้อง VIP ของสนามบินจานักปูร์ทีี่ประดับด้วยศิลปะมิถิลา 
ด้านซ้าย: นางขันธ์ทอง อูนากูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ 
ด้านขวา: นางจิราพร สุดานิช อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงกาฐมาณฑุ 
 
            เราเดินทางกลับจากจานักปูร์ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมและภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาเมืองที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองที่ยากจนที่สุด และไม่สะอาดที่สุดของเนปาล แม้ว่าจะเป็นการเริ่มดำเนินโครงการเพียงน้อยนิด แต่การให้ความช่วยเหลือตามความต้องการเร่งด่วนของชาวเมือง ก็ถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งการมาเยือนของเราในครั้งนี้ยังได้รับการกล่าวขานและเผย แพร่อย่างกว้างขวางทั้งในสื่อระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ แม้กระทั่งเมื่อเรากลับมาแล้ว และได้มีโอกาสพบปะกับคณะทูตประเทศต่าง ๆ นักธุรกิจ รวมทั้งบุคคลสำคัญของเนปาล โดยเฉพาะชาวเมืองจานักปูร์แท้ ๆ อย่างประธานาธิบดี Yadav บุคคลเหล่านั้นต่างก็ให้ความสนใจสอบถาม และกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การไปเยือนจานักปูร์ของเราเป็นการริเริ่มที่ดียิ่งและเราจะต้องกลับไปมิถิลา นครอีกครั้งในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน ตอนนี้ขอตัวไปอ่านรามเกียรติ์ก่อน สวัสดี 
 
 
 
เรียบเรียงโดย 
นางขันธ์ทอง อูนากูล เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ 
นางจิราพร สุดานิช อัครราชทูตที่ปรึกษา ณ กรุงกาฐมาณฑุ 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ เนปาล 
 
ภาพจาก 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ เนปาล 
http://wikimapia.org/10407875/Janakpurdham