ภาพรวมอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในแอฟริกาตะวันออก

ภาพรวมอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในแอฟริกาตะวันออก

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 11,989 view
 
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเคนยารายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6-12 กันยายน 2557 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “Rwanda ranked most competitive economy in the EA” เกี่ยวกับภาพรวมและอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศในแอฟริกาตะวันออก สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
 
รวันดา
 
รายงานของ World Economic Forum (WEF) ว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันโลกในปี ค.ศ. 2014 ได้จัดให้รวันดาเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ตามด้วยเคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา และบุรุนดี โดยรายงานยังได้ระบุว่า แอฟริกาตะวันออกเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะรวันดาซึ่งสามารถดึงดูดและรักษาระดับการลงทุนจากต่างประเทศได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับที่ 62 ของโลก และลำดับที่ 3 ของแอฟริกาเขตใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลรวันดาภายใต้การนำของประธานาธิบดี Paul Kagame ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวรวันดา และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับธุรกิจ
 
ในขณะเดียวกัน รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยการทำธุรกิจ (Doing Business Report) ประจำปี ค.ศ. 2013 ก็จัดให้รวันดาอยู่ในลำดับสูงด้วยเช่นกัน เนื่องจากรวันดามีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค และมีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รวันดายังคงเผชิญกับปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนานวัตกรรม
 
ในความเห็นของรัฐบาลรวันดาเอง นาย Claver Gatete รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและแผนงานเศรษฐกิจรวันดา ก็ได้กล่าวว่า รวันดาเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีที่สุดในแอฟริกาตะวันออก มีอัตราการเจริญเติบโตที่น่าพึงพอใจ ซึ่งเป็นสิ่งรัฐบาลรวันดาได้พยายามดำเนินการมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยรวันดามุ่งเร่งสร้างความเจริญเติบโตของประเทศที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนขึ้น มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้รวันดามีความทัดเทียมและสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ
 
 
แทนซาเนีย
 
บริษัทที่ปรึกษา Price Waterhouse Coopers (PWC) ระบุว่า การค้นพบแก๊สธรรมชาติ การรวมตัวระดับภูมิภาค และการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง จะส่งผลให้แทนซาเนียเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลแทนซาเนียที่มุ่งเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ยังคงมีส่วนที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศแทนซาเนีย นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอื่นๆ อาทิ การทุจริต ความโปรงใส และคุณภาพทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่นักลงทุนมีความห่วงกังวลต่อการลงทุนในแทนซาเนีย
 
 
ยูกันดาและบุรุนดี
 
ล่าสุด ยูกันดาค้นพบแหล่งน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งคาดว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ยูกันดาได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะช่วยเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของยูกันดาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยูกันดากำลังจะเริ่มสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีส่วนร่วมในโครงสร้างทางรถไฟรางคู่มาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนต่าง ๆ ในการขนส่งมากยิ่งขึ้น โดยตามแผนงานจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2017 และบริษัทของจีนเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างครั้งนี้
 
อย่างไรก็ดี ยูกันดาและบุรุนดียังคงประสบความล้มเหลวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องมาจากปัญหาการทุจริต ความโปร่งใส เงินเฟ้อ คุณภาพทางการศึกษา ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ระเบียบข้อบังคับ และผลกระทบจากโรคมาลาเรียและเอดส์
 
 
ภาพรวมด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและด้านอื่นๆ
 
ตามรายงานของ UNCTAD ปี ค.ศ. 2013 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของประเทศสมาชิกประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community – EAC) มีมูลค่าโดยรวม 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 48.71 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2011 ซึ่งมีมูลค่าโดยรวม 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแทนซาเนียและยูกันดาสามารถดึงดูด FDI ได้ในระดับที่สูงที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ตามมาด้วยเคนยา รวันดาและบุรุนดี โดยการดึงดูด FDI ของยูกันดา แทนซาเนีย และรวันดา มีอัตราการขยายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เคนยาและบุรุนดีมีอัตราลดลง
 
ความสามารถของแอฟริกาในการแข่งขันในตลาดโลกกำลังเผชิญกับอุปสรรคจากอัตราภาษีที่สูง ปัญหาด้านความปลอดภัย การทุจริต โครงสร้างพื้นฐาน และการคุ้มครองนักลงทุน อย่างไรก็ดีประเทศใน แอฟริกาตะวันออกยังมีโอกาสด้านการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน หากสามารถสร้างความสัมพันธ์กับการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการใช้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคนี้
 
 
 
กองแอฟริกา
26 กันยายน 2557
(ข้อมูลจาก สอท. ณ กรุงไนโรบี)
 
รูปภาพประกอบ
http://www.africanexecutive.com/images/uploaded_images/A2/EAC-flags_1.jpg
http://siteresources.worldbank.org/INTAFRREGINICOO/Images/r-map-eac.gif
http://goista.com/wp-content/uploads/2014/09/Kigali-Masterplan-Urban-Planning-Design-Exterior.jpg
http://s12.postimg.org/nhnr7ntf1/trillion_project_inside_470.jpg
http://1.bp.blogspot.com/_BuMcinKVHv8/TM6cu-eyKbI/AAAAAAAAAAg/sqb5v3wysfA/s1600/kampala.JPG
http://www.bbc.com/news/world-africa-27368877