บุกตลาด Koyambedu ตลาดค้าส่งผลไม้เมืองเจนไน พบพ่อค้านำเข้าและขายปลีก-ส่งผลไม้ไทย

บุกตลาด Koyambedu ตลาดค้าส่งผลไม้เมืองเจนไน พบพ่อค้านำเข้าและขายปลีก-ส่งผลไม้ไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 10,093 view
           
                 
ด้านหน้าตลาดขายส่ง Koyambedu ภายในตลาดมีแผงจำหน่ายผลไม้ประจำฤดู

 

อินเดียนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตผลไม้และผักสดในอันดับต้นๆ ของโลก ในแต่ละปีสามารถผลิตผลไม้ได้มากกว่า 80 ล้านตัน โดยผลไม้สำคัญของอินเดีย ได้แก่ มะม่วงและกล้วย ซึ่งผลิตได้มากที่สุดในโลก รองลงมาได้แก่ แอปเปิ้ล สัปปะรด ส้ม องุ่น และทับทิม ซึ่งรสชาติของผลไม้อินเดียมีรสอร่อยไม่แพ้ผลไม้ไทยเช่นกัน
 
ด้วยความที่อินเดียมีการผลิตผลไม้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีอุปสงค์ของตลาดที่สูง โดยเฉพาะผู้ที่เคยเดินทางมายังอินเดียแล้ว จะสังเกตเห็นว่ามีร้านจำหน่ายผลไม้และน้ำผลไม้ตลอดแนวถนน เนื่องจากคนอินเดียมีอุปนิสัยที่จะต้องรับประทานผลไม้เป็นประจำทุกวัน ทำให้ตลาดการค้าขายผลไม้ในอินเดียเติบโตอย่างรวดเร็วและโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของอินเดีย จะมีตลาดค้าส่งผลไม้กระจายตัวอยู่หลายๆ แห่ง
 
สำหรับเมืองเจนไน ไม่มีใครในเมืองเจนไน และไม่มีพ่อค้าผลไม้รายใดในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐใกล้เคียงในอินเดียตอนใต้ที่ไม่รู้จักตลาดขายส่งผลไม้ Koyambedu Wholesale Market Complex ซึ่งถือเป็นตลาด    ค้าส่งสินค้าผักผลไม้ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย
 
ตลาด Koyambedu แห่งนี้ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมืองเจนไน มีพื้นที่รวมประมาณ 295 เอเคอร์ มีถนนไฮเวย์และเส้นทางรถไฟฟ้าเมืองเจนไนตัดผ่านด้านหน้า ภายในตลาดมีทั้งส่วนที่จำหน่ายผัก และส่วนที่จำหน่ายผลไม้ พวกผลไม้ที่เห็นมีจำหน่ายก็ได้แก่ พวกกล้วย มะม่วง สับปะรด และผลไม้ประเภทต่างๆ ตามฤดูกาล วางกระจายอยู่ด้านหน้าและภายในร้านจำหน่ายปลีก-ส่งภายในตลาดจำนวนมากกว่า 3,000 ร้าน
 
ดิฉันได้มีโอกาสพบกับพ่อค้านำเข้าผลไม้ไทย ซึ่งตั้งร้านอยู่ในตลาดแห่งนี้ ได้แก่ ร้าน Surya Imports & Exports ซึ่งเป็นผู้นำเข้าลำไยจากประเทศไทย   ร้าน Sree Vignesh Impex ซึ่งเคยสั่งซื้อมังคุด ทุเรียน ลำไย และลูกมังกรจากประเทศไทย โดยผ่านพ่อค้าคนกลาง และร้าน Yuvan Export ซึ่งเคยนำเข้าลำไยและมังคุดจากประเทศไทย
 
รถบรรทุกขนผักและผลไม้มาส่งและรับไปขายที่ตลาด พ่อค้าอินเดียวางเรียงขายปลีกผักและผลไม้
 
 
สำหรับผลไม้ไทยที่ร้านดังกล่าวสั่งนำเข้ามานั้น มาทั้งทางเรือและทางอากาศ โดยการสั่งผลไม้จะสั่งเป็นรายครั้ง ครั้งหนึ่งก็อย่างน้อย 400-500 กล่อง กล่องละประมาณ 10 กิโลกรัม แต่ละร้านที่กล่าวถึงจะมีลูกค้าที่เป็นทั้งพ่อค้าส่งและพ่อค้าปลีก อย่างร้าน Sree Vignesh Impex มีลูกค้าประมาณ 200 ราย จาก 4 รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ได้แก่ รัฐทมิฬนาฑู รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐอานธรประเทศที่จำหน่ายต่อไป
 
พ่อค้าผู้นำเข้าอินเดียที่ตลาด Koyambedu เห็นว่า ตลาดผลไม้ไทย เช่น ลำไย น่าจะไปได้ดี เนื่องจากในอินเดียไม่มีปลูก และคนอินเดียเริ่มรับประทานลำไยมากขึ้น ขณะที่ผลไม้ไทย เช่น มังคุด สามารถทำตลาดได้ โดยพ่อค้าอินเดียจะสั่งซื้อมังคุดจากไทยเพื่อทดแทนมังคุดจากรัฐเกรละในช่วงที่ขาดตลาดหรือหมดฤดูกาล ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกมังคุดให้อินเดียได้ในช่วงหลังจากที่มังคุดในอินเดียหมดฤดูกาลได้ก็จะสามารถทำตลาดได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พ่อค้าอินเดียยังมีความสนใจผลไม้ลูกมังกรจากไทยด้วย ซึ่งปัจจุบันได้นำเข้าจากเวียดนามเป็นหลัก
 
อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าอินเดียแอบกระซิบว่า ลูกมังกรของเวียดนามอร่อยกว่าของไทย และมังคุดจากรัฐเกรละก็มีคุณภาพดี และรสชาดิอร่อยกว่าของไทย!!!
 
ประเด็นสำคัญที่พ่อค้าอินเดียฝากผู้ส่งออกชาวไทยมาให้พิจารณาให้หนักๆ คือ เรื่องคุณภาพของสินค้า เนื่องจากมีหลายครั้งที่ต้องเจอะเจอประสบการณ์ที่คุณภาพไม่ตรงตามสั่ง คือ มีผลไม้เกรดอื่นปนมา หรือมีการติดเชื้อโรค หรือมีหนอนแมลงหวี่ติดมาบ้าง หรือฝ่ายไทยรับเงินไปแล้วเงียบหาย ทำให้ต้องสูญเสียเงินไปมาก เนื่องจากการทำธุรกิจเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้า ไม่มีการเปิด L/C  เลยมีหลายรายก่อนหน้านี้ เลิกนำเข้าผลไม้โดยตรงจากประเทศไทย และถ้าจะนำเข้า ก็จะนำเข้าผ่านพ่อค้าคนกลางเท่านั้น
 
 พ่อค้าผลไม้อินเดียบอกว่า เขากลัวที่จะนำเข้าผลไม้ไทย เนื่องจากเขาไม่เห็นข้างในกล่อง เพราะการนำเข้ามาแต่ละครั้งหลายร้อยกล่องไม่สามารถเปิดดูทุกกล่องได้ พอมาถึง ส่วนใหญ่เขานำส่งลูกค้าเลย ซึ่งหากผลไม้นำเข้ามีปัญหา จะทำให้เขาเสียลูกค้า และอีกอย่างคือ เขาไม่สามารถเคลมเงินคืนจากผู้ส่งออกไทยได้ จึงแนะนำว่า การส่งออกผลไม้ไทย น่าจะให้มีการประกันคุณภาพผลไม้ เช่นเดียวกับ ผู้ส่งออกผลจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ด้วย ซึ่งจะทำให้เขามั่นใจในการสั่งซื้อผลไม้นำเข้าจากประเทศไทยมากขึ้น
 
ในส่วนของภาครัฐ  ผู้นำเข้าอินเดียฝากไว้ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนางานวิจัยว่า จะทำอย่างไรให้ผลไม้ไทยมีระยะเวลาในการวางบนหิ้งให้นานขึ้น เนื่องจากหลายครั้งหน่วยงานภาครัฐอินเดียใช้เวลาตรวจสอบผลไม้นำเข้าหลายวัน ทำให้หลายครั้ง ผลไม้อาจเน่าเสียได้ หรือทำให้น้ำหนักผลไม้ลดลง  และฝากขอให้ลดราคาค่าขนส่งทางอากาศลง ซึ่งจะทำให้ราคาผลไม้ถูกลง และดึงดูดให้ลูกค้าอินเดียรับประทานผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น
 
พบผู้นำเข้าผลไม้อินเดียคราวนี้ ทำให้ทราบว่า โอกาสของผลไม้ไทยในอินเดียยังมีอีกมาก ขอเพียงแต่ผู้ส่งออกของไทย พัฒนาคุณภาพและมีความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการวิจัยพัฒนาคุณภาพผลไม้ไทยซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัวในตลาดอินเดียมากขึ้นด้วย 
 
 
 
*****************************************
 
 
รายงานโดย ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน