การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสู่ประเทศอินเดียถูกควบคุมโดยหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศอินเดีย (Food Safety and Standard Authority of India: FSSAI) ซึ่งกำหนดระเบียบและประกาศให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเมื่อมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ส่งออกอาหารมายังประเทศอินเดียจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร
ใบอนุญาตและระเบียบ (Licenses and Regulations)
การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารให้ยื่นขอใบอนุญาตและปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการนำเข้าเพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศอินเดีย
จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Registration)
ขอรหัสผู้นำเข้าและส่งออกที่ออกโดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของอินเดีย (Director-General of Foreign Trade)
การขออนุมัติผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศอินเดีย (FSSAI)
ขั้นตอนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสู่ประเทศอินเดีย
ขั้นตอนที่ 1 การตรวจ/ปล่อยและพิธีการศุลกากร (Customs Clearance)
ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารในทุกด่านศุลกากร ผู้นำเข้าจะต้องทำหนังสือมอบอำนาจ (Authorized Letter) ให้กับตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร (Customs Handling Agent) และให้ทำหนังสือถึง FSSAI หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ พร้อมจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามปริมาณที่กำหนด เพื่อทำการประเมินภาษี เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์แล้วให้ชำระภาษีศุลกากร
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย (FSSAI Clearance)
ตัวแทน (Customs Handling Agent) จะยื่นใบขอตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารผ่านระบบการตรวจผ่านผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า (Food Import Clearance System) ของหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย หลังจากผ่านการตรวจผ่านเรียบร้อยแล้วจะได้รับใบรับรองไม่คัดค้าน (No Objection Certificate: NOC) โดยจะต้องกรอกรายละเอียดและแนบหลักฐานลงบนเว็บไซต์ของหน่วยงานฯ มีดังนี้
-
รหัสผู้นำเข้าและส่งออกที่ออกโดยอธิบดีการค้าต่างประเทศของอินเดีย (Importer Exporter Code issued by Director- General of Foreign Trade)
-
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจอาหารจากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย
-
ใบแสดงปริมาณและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ (Bill of Entry)
-
ใบสั่งการตรวจสอบที่ทำขึ้นโดยระบบ EDI ของศุลกากร
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบและการสุ่มตัวอย่างของผลิตภัณฑ์อาหาร (Inspection and Sampling of the Consignment)
เมื่อยื่นใบขอตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารผ่านตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดียจะเป็นผู้ตรวจเอกสาร (เจ้าหน้าที่อาจขอเอกสารอย่างอื่นเพิ่มเติม) ทั้งนี้ถ้าหากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ตามจำนวนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตัวอย่างโดยเจ้าหน้าที่กำหนดวันและเวลาสำหรับการตรวจสอบทางกายภาพของผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งจะมีการตรวจสอบ ดังต่อไปนี้
-
การตรวจสอบทางกายภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น แมลง หรือเชื้อรา
-
การตรวจสอบอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหารที่เหลืออยู่ต้องมากกว่าร้อยละ 60 ตามอายุการเก็บรักษาของต้นฉบับผลิตภัณฑ์จากช่วงเวลาการตรวจสอบจากศุลกากร
-
การตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และการติดฉลากตามข้อบังคับปี 2554 และผลิตภัณฑ์อาหารต้องมีการติดฉลากเฉพาะ
-
การติดฉลากและชื่อหลังจากผ่านการตรวจสอบแล้ว
-
ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า
-
โลโก้ของ FSSAI และ หมายเลขใบอนุญาต
-
ฉลากสัญลักษณ์มังสวิรัติหรือไม่มังสวิรัติ (Veg/ Non Veg Symbol)
หลังการตรวจสอบทางกายภาพเสร็จสิ้น เจ้าหน้าของ FSSAI จะเก็บเอาตัวอย่างของผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่างไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งตัวอย่างที่ 1 จะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการ และตัวอย่างที่ 2 จะถูกเก็บไว้ในสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อตรวจสอบซ้ำ (ถ้ามีความต้องการ)
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจะถูกส่งไปตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ FSSAI และห้องปฏิบัติการวิจัยจะวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของ FSSAI โดยภายในระยะเวลา 5 วัน เจ้าหน้าที่ ฯ จะได้รับการรายงานผลจากห้องปฏิบัติการวิจัยพร้อมกับข้อสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ FSSAI
ขั้นตอนที่ 4 การได้รับการอนุมัติของผลิตภัณฑ์อาหารเข้ามาในอินเดีย (Approval of Food Product into India)
ห้องปฏิบัติการออกใบสรุปรายงานว่าผลิตภัณฑ์อาหารสอดคล้องกับข้อกำหนดของ FSSAI ดังนั้น เจ้าหน้าที่จาก FSSAI จะออกใบรับรอง NOC และใบ NCC ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วทั้งหมด และจะได้รับอนุญาตให้นำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากคลังสินค้าศุลกากรได้เพื่อนำไปจำหน่ายในลำดับต่อไป
กล่าวโดยสรุป การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสู่ประเทศอินเดียผู้ส่งออกจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่กำหนดโดย FSSAI เพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธการนำเข้า หากผู้ประกอบการดำเนินการตามระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ตามข้อมูลข้างต้นอย่างครบถ้วน เป็นไปตามขั้นตอนการนำเข้าจะช่วยประหยัดเวลาอีกด้วย
สคต มุมไบ
วันที่ 18 มิถุนายน 2559