อุซเบกิสถาน จากอู่อารยธรรมเส้นทางสายไหมสู่ตลาดการค้าสมัยใหม่

อุซเบกิสถาน จากอู่อารยธรรมเส้นทางสายไหมสู่ตลาดการค้าสมัยใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 9,865 view
 
เมื่อพูดถึงอุซเบกิสถาน หลายท่านอาจคิดถึงจุดเชื่อมต่อของอารยธรรมเส้นทางสายไหมซึ่งเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมระหว่างทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ยังผลให้มีการเผยแผ่ศาสนา ถ่ายทอดศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสมผสานอารยธรรมต่างๆ ดังที่ได้มีการจารึกไว้ในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล  ดินแดนแห่งนี้ ผ่านการยึดครองของนักรบที่สำคัญของโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช จักรวรรดิเปอร์เซีย ก่อนจะถูกยึดครองโดยจักรวรรดิมองโกล และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตจนได้รับเอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 ทำให้อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว
 
ไทยและอุซเบกิสถานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2535 ไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมอุซเบกิสถาน ส่วนฝ่ายอุซเบกิสถานมีสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย ชาวไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปอุซเบกิสถานสามารถขอรับการตรวจลงตราได้ที่สถานกงสุลใหญ่ดังกล่าว  
 
           
          
 
ทางภูมิศาสตร์ อุซเบกิสถานตั้งอยู่ ‘ใจกลาง’ ของภูมิภาค ‘เอเชียกลาง’ กล่าวคือ ภาคเหนือติดคาซัคสถาน ภาคตะวันตกติดเติร์กเมนิสถาน ภาคตะวันออกติดสาธารณรัฐคีร์กีซและทาจิกิสถาน ภาคใต้ติดอัฟกานิสถาน การมีที่ตั้งใจกลางทวีปทำให้อุซเบกิสถานมีสภาพเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและรายล้อมไปด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเช่นกัน (Double Landlocked) ยังผลให้การขนส่งภายในประเทศและส่งต่อไปยังประเทศที่สามเป็นเรื่องท้าทายและยังมีต้นทุนสูง อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน มีเที่ยวบินตรงระหว่าง กรุงเทพฯ – กรุงทาชเคนต์โดยสายการบินอุซเบกิสถานหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยจะเพิ่มเที่ยวบินในฤดูหนาวในช่วงธันวาคม – กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวอุซเบกิสถาน นอกจากการขนส่งทางอากาศแล้ว ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่านจีน หรือ ทางเรือผ่านท่าเรือ Bandar Abbas ในอิหร่านแล้วขนส่งทางรถไฟไปยังอุซเบกิสถาน
 
ปัจจุบัน อุซเบกิสถานปรับเปลี่ยนจากเส้นทางสายไหมมาเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจด้วยจำนวนประชากรประมาณ 30 ล้านคน ทำให้อุซเบกิสถานเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ทั้งนี้ นับตั้งแต่ได้รับเอกราช เศรษฐกิจของอุซเบกิสถานขยายตัวเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากร้อยละ 1.7 ในปี 2535 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2557 โดยระหว่างปี 2551-2557 อุซเบกิสถานมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 8  ต่อปี ปัจจุบัน อุซเบกิสถานดำเนินการค้ากับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของอุซเบกิสถานเป็นการค้ากับประเทศกลุ่มเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States - CIS) ประมาณร้อยละ 44 ประเทศกลุ่มเอเชียร้อยละ 31 และสหภาพยุโรปร้อยละ 22  ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถพิจารณาใช้อุซเบกิสถานเป็นฐานในการผลิตและส่งไปยังประเทศเครือรัฐเอกราชอื่นๆ โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) ของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช  
 
ด้วยความตระหนักถึงศักยภาพของอุซเบกิสถาน กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ส่งคณะผู้แทนนำโดย นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์  รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ดำเนินโครงการเยือนอุซเบกิสถานเพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาลู่ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน  2558  ซึ่งคณะผู้แทนของกระทรวงฯ ได้พบหารือกับหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ ของอุซเบกิสถาน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ  กระทรวงการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการค้าต่างประเทศ เขตอุตสาหกรรมพิเศษอันเกรน (Angren) โดยได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งลู่ทางเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน
 
คณะผู้แทนฯ ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ  อาทิ ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานได้แก่ มีแร่ทองคำมากเป็นอันดับ 4 ของโลก  ผลิตฝ้ายเป็นอันดับ 6 ของโลก และผลิตยูเรเนียมเป็นอันดับ 7 ของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะแร่ธาตุมีค่าที่อุดมสมบูรณ์  แต่ก็ยังมิได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้แต่เพื่อนบ้านอาเซียนของเราได้แก่บริษัท Petronas และ บริษัท KNM Group ของมาเลเซีย และบริษัท PetroVietnam ของเวียดนามก็ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานในอุซเบกิสถานแล้ว 
 
รัฐบาลอุซเบกิสถานมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และมีเขตอุตสาหกรรมพิเศษสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ เขตอันเกรน ตั้งอยู่ในมณฑล Tashkent ใกล้กับเมืองหลวง  เขตจีซซาคฮ์ (Jizzakh) ทางตอนกลางของประเทศ และเขตนาวอย (Navoi) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยนักลงทุนต่างชาติจะได้รับการอำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และการอำนวยความสะดวกการตรวจลงตรา รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ที่ www.mfer.uz นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงาน Uzinfoinvest มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและให้ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติโดยเน้นให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนและบริษัทต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถดูรายการโครงการประมูลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งยื่นเอกสารและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์  www.uzinfoinvest.uz  และ www.egovernment.uz นอกจากนี้ ภาคเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วมงานนิทรรศการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสาขาต่างๆ ในอุซเบกิสถาน อาทิ International Industrial Fair and Cooperation Exchange, International Uzbek Cotton and Textile Fair  และ UzAgroExpo สามารถดูกำหนดการต่าง ๆ ได้ที่ www.chamber.uz และ www.businessinfo.uz 
 
นอกจากอุตสาหกรรมแล้ว จากภูมิประเทศแถบลุ่มแม่น้ำ ทำให้พื้นดินของอุซเบกิสถานมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรมากกว่าประเทศในเอเชียกลางอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอุซเบกิสถานจึงมีนโยบายเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรหลักของอุซเบกิสถาน ได้แก่ ฝ้าย ธัญพืช และผลไม้ ตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สำหรับการปศุสัตว์ รัฐบาลได้ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ โค และแกะ ทั้งนี้ อุซเบกิสถานสนใจรับการลงทุนด้านการเลี้ยงปศุสัตว์และฟาร์มปลาน้ำจืดจากไทย ซึ่งสาขาเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และการปศุสัตว์ดังกล่าวนั้น ล้วนเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ  
 
นอกจากนี้ อุซเบกิสถานมีศักยภาพในภาคการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งอารยธรรมเส้นทางสายไหมในอดีต มีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกถึง 4 แห่ง ได้แก่ Shakhrisyabz   Itchan Kala  Samarkand  และ Bukhara  ซึ่งมีความเก่าแก่ย้อนไปกว่า 2,000 ปี ซึ่งแม้ว่าอุซเบกิสถานจะเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่นับว่าได้พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ จากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียง 9 หมื่นคนในปี 2538  เพิ่มเป็นจำนวน 1.9 ล้านคนในปี 2558  โดยปัจจุบัน นอกจากจะมีเครือโรงแรมระดับห้าดาวแล้ว ยังมีประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเข้าไปลงทุนธุรกิจการโรงแรม อาทิ โรงแรม Lotte ของเกาหลีใต้  โรงแรม Le Grande Plaza ของอินโดนีเซีย โรงแรม Ramada ของอินเดีย เป็นต้น นอกจากนี้ สาขาการบริการอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ร้านอาหารไทย  รร. สอนศิลปะการป้องกันตัวมวยไทย และร้านนวดแผนไทยและสปา
 
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดด้านภาษา เนื่องจากหน่วยงานราชการและเอกชนส่วนใหญ่ของอุซเบกิสถานใช้ภาษารัสเซีย และภาษาอุซเบกในการสื่อสาร ดังนั้น ภาคธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าไปติดต่อธุรกิจควรจะมีพันธมิตรหรือหุ้นส่วนท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือด้านภาษาและกฎระเบียบท้องถิ่น โดยเฉพาะกฎระเบียบด้านการตรวจลงตราและการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวด  การมีระบบธนาคารยังไม่เป็นสากลและมีปัญหาด้านการทำธุรกรรมทางธนาคารโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเงินตราและการโอนเงินข้ามประเทศ เนื่องจากยังมีกฎหมายที่เป็นมรดกตกทอดจากสหภาพโซเวียต ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจจะดำเนินธุรกิจที่อุซเบกิสถานจึงควรศึกษาถึงกฏระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ 
 
 
 
--------------------------------------------
 
 
กลุ่มงานเอเชียกลาง
กองเอเชียใต้และเอเชียกลาง
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
19 พฤศจิกายน 2558
แผนที่จาก www.worldatlas.com
ภาพถ่ายโดย กนกพรรณ ชินสวนานนท์