แอฟริกา
อาณาจักรโบราณแห่งแอฟริกา (ตอนที่ 2: แหล่งอารยธรรมอักซุม)
**************
แหล่งอารยธรรมอักซุม (Axumite Civilization)
**************
ในขณะที่อารยธรรมแห่งนูเบียโลดแล่นบนแผ่นผืนประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แหล่ง อารยธรรมอักซุม (Axumite Civilization) ก็ได้จารึกวิวัฒนาการทางภูมิปัญญาของมนุษย์อยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากกันมากนัก แม้อาณาจักรอักซุมซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเอธิโอเปียในปัจจุบันจะมีอายุเก่าแก่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอาณาจักรนูเบีย แต่ก็มีความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองไม่แพ้กัน
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามนุษย์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณจะงอยแห่งแอฟริกา (Horn of Africa) และเริ่มหล่อหลอมเป็น อาณาจักรอักซุม[i] (Axumite Kingdom) เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีฐานะเป็นอาณาจักรที่เป็นเอกราชของชาวพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Region) โดยชื่อ อักซุม หมายถึง “ความเกรียงไกร (Powerful)”
อาณาจักรอักซุมแผ่กว้างไปในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน รวมถึงจิบูตี ทางใต้ของอียิปต์ ตอนเหนือของซูดาน เอริเทรีย จิบูตี เยเมน และตะวันตกเฉียงใต้ของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเมืองโบราณอักซุมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร หลักฐานทุติยภูมิอ้างถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอักซุมว่า สามารถบดบังอาณาจักรนูเบียไว้ได้เกือบทั้งหมด กล่าวคือ เมื่อเอ่ยถึงแอฟริกาในสมัยโบราณ ทุกสิ่งทั้งมวลที่อยู่ทางใต้ของอียิปต์ล้วนถูกเรียกเป็น “อักซุม” มากกว่าที่จะระบุว่าเป็น “นูเบีย”



ภาพซากเมืองโบราณอักซุม (ซ้าย) และตำแหน่งที่ตั้งของอาณาจักรในปัจจุบัน (ขวา)

อาณาจักรนี้ยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอียิปต์และกรีก รวมถึงศาสนาคริสต์ที่แผ่ลงมาจากภูมิภาคแอฟริกาทางเหนือผ่านการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี[ii] โดยกษัตริย์พระองค์แรกที่หันมานับถือศาสนาคริสต์คือกษัตริย์เอซานาที่ 1 (Ezana I – ประมาณ ค.ศ. 320 – 360) ดังจะเห็นจากการที่พระองค์ทรงออกเหรียญที่มีสัญลักษณ์รูปไม้กางเขนเป็นครั้ง แรก และในสมัยกษัตริย์พระองค์ต่อมาก็ได้มีการแปลพระคัมภีร์ไบเบิล

เหรียญที่ออกโดยกษัตริย์เอซานา ที่ 1 แห่งอักซุม มีรูปพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิและรูปไม้กางเขนอยู่กันคนละด้านกัน
นอกจากนี้ ตำนานที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องเกบรา เนกาสต์ (Kebra Negast – เกียรติภูมิแห่งราชันย์) ซึ่งเขียนขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 ยังกล่าวว่า อาณาจักรนี้เป็นสถานที่เก็บหีบแห่งพันธสัญญา (the Ark of the Covenant) ซึ่งบรรจุแผนศิลาจารึก พระบัญญัติสิบประการ[iii] (The Ten Commandments) ที่พระเจ้าที่ทรงประทานแก่โมเสสที่เนินเขาบนแหลมซีนาย[iv] (The Sinai) โดยมีกษัตริย์ เมเนลิกที่ 1 (Menelik I) ซึ่งเป็นราชโอรสของกษัตริย์โซโลมอน[v]กับพระราชินีแห่งชีบา[vi] (Sheba) เป็นผู้ปกครอง
พอยน์เตอร์ (Sir Edward John Poynter) ศิลปินชาวอังกฤษ (ซ้าย) และซาก
อาคารชุดที่สันนิษฐานว่าเป็นพระราชวังของราชินีแห่งชีบา ในเมืองโบราณอักซุม ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุับัน (ขวา)
ตลอดช่วงที่อักซุมเจริญรุ่งเรือง ได้มีหลากกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรนี้และนำวิทยาการก่อสร้างที่อยู่อาศัยด้วยศิลาเข้ามาใช้ในอาณาจักรอักซุมอีกด้วย
เมืองโบราณอักซุมเป็นตัวแทนอารยธรรมแห่งเอธิโอเปียที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 6 และ 7 ทว่ากลับเสื่อมถอยในศตวรรษต่อมา แต่ยังคงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางศาสนพิธีและกิจการในราชสำนัก อาทิ พิธีแต่งตั้งกษัตริย์ที่สืบทอดบัลลังก์จากบรรพบุรุษ ในขณะที่แหล่งอารยธรรมเอธิโอเปียได้เคลื่อนไปยังที่ราบสูงเมืองอัมฮารา (Amhara) และเมืองติเกรย์ (Tigray) ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ซักเว (Zagwe Dynasty) ในคริสต์ศตวรรษที่ 12–13 และเป็นยุคที่รุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่ง ซึ่งนักโบราณคดีแบ่งช่วงเวลานี้ว่าเป็นยุคหลังอาณาจักรอักซุม (Post-Aksumite Period)
วัฒนธรรมของอาณาจักรอักซุมยังแพร่ขยายไปยังอาณาจักรใกล้เคียง ทั้งในภูมิภาคแอฟริกากลางและในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเมืองมีโร (Meroë) ของอาณาจักรนูเบีย ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นมรดกทางอารยธรรมแห่งเอธิโอเปียโบราณอีกด้วย
[i] เอกสารทางประวัติศาสตร์ภาษาต่างประเทศกล่าวถึงอาณาจักรอักซุมไว้หลากหลาย ชื่อ ได้แก่ Aksum Kingdom, Axumite Kingdom, Aksumite Empire รวมไปถึงชื่ออื่นที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ Ethiopia Empire, Kingdom of Ethiopia และ Abbysinia ด้วยเหตุนี้จึงขออธิบายถึงที่มาและข้อแตกต่างของชื่อเหล่านี้เพื่อป้องกัน ความสับสนมิให้เกิดขึ้นในภายหลัง คำว่า อักซุม นั้นเป็นชื่อดั้งเดิมของอาณาจักรทางตอนเหนือของเอธิโอเปีย โดยในช่วงก่อนศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราชนั้น อาณาจักรนี้ไม่เป็นที่รู้จักของชาวกรีกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่ออาณาจักรนี้เริ่มมีอิทธิพลในการค้าระหว่างตะวันออก – ตะวันตกบริเวณทะเลแดงและได้ขยายอำนาจเข้าปกครองอาณาจักรคุชในประเทศซูดานในปัจจุบัน ซึ่งชาวโรมันเรียกว่า นูเบีย และชาวกรีกเรียกว่า เอธิโอเปีย ก็ทำให้ชาวกรีกในยุคนั้นและยุคต่อ ๆ มาพลอยเรียกอาณาจักรอักซุมว่า เอธิโอเปีย ไปด้วย สำหรับคำว่า อะบิสซีเนีย (Abyssinia) นั้น แผลงมาจากคำว่า ฮาเบช (Habesh) ในภาษาอาหรับ ซึ่งใช้เรียกชนเผ่า ฮะบะชัต (Habashat) ที่อาศัยบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน
[ii] เหตุที่ได้รับอิทธิพลศาสนาคริสต์จากอียิปต์และภูมิภาคแอฟริกาเหนือ เนื่องจาก ณ เวลานั้นภูมิภาคดังกล่าวอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิโรมันในขณะนั้น
[iii] ได้แก่ 1) อย่านมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้านอกเหนือไปจากพระเจ้าพระองค์เดียวของท่าน 2) อย่าออกพระนามองค์พระเจ้าโดยไม่สมเหตุ 3) อย่าลืมฉลองวันพระเจ้าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ 4) จงนับถือบิดามารดา 5) อย่าฆ่าคน 6) อย่าผิดประเวณี 7) อย่าลักขโมย 8) อย่าพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น 9) อย่าปลงใจผิดประเวณี 10) อย่ามักได้ทรัพย์สินของผู้อื่น
[iv] ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิยิปต์ โดยเป็นส่วนที่ยื่นลงไปในทะเลแดง
[v] ในคัมภีร์ของศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม กษัตริย์โซโลมอน (ในศาสนาอิสลามเรียกว่า สุลัยมาน – sulayman) เป็นกษัตริย์ชาวยิวและศาสดาพยากรณ์ท่านที่ 48 ของศาสนายูดาห์ เป็นผู้สร้างวิหารโซโลมอน (Solomon Temple) บนเทมเพิลเมาท์ (Temple Mount) ในกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ มั่งคั่ง และทรงอำนาจ ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายก่อนที่อาณาจักรของชาวยิวจะแตกออกเป็นสอง อาณาจักรย่อย คือ อาณาจักรอิสราเอล (The Kingdom of Israel) และอาณาจักรยูดาห์ (The Kingdom of Judah)
[vi] สันนิษฐานกันว่า เมืองชีบา (ในคัมภีร์อัลกุรอ่านเรียกว่า ซาบา - Saba) น่าจะตั้งอยู่ในเยเมน อย่างไรก็ตาม มีนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าเมืองชีบาน่าจะอยู่ที่เอริเทรีย (Eritrea) หรือตอนเหนือของเอธิโอเปีย ซึ่งอยู่ภายในอิทธิพลของอาณาจักรอักซุมในขณะนั้น สำหรับเรื่องความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างราชินีแห่งชีบากับกษัตริย์ โซโลมอนนั้น ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าทั้งสองพระองค์ได้ทรงมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง เว้นแต่วรรณกรรมเรื่องเกบรา เนกาสต์ ของเอธิโอเปีย ที่กล่าวว่า ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งสองพระองค์เริ่มขึ้นหลังจากที่พระนางชีบาได้ ทรงพักค้างคืนในพระราชวังของกษัตริย์โซโลมอนหลังจากที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำกับองค์กษัตริย์ฯ โดยที่ต่อมาพระนางก็ทรงพระครรภ์และประสูติพระโอรส ซึ่งก็คือ กษัตริย์เม เนลิกที่ 1 นั่นเอง
Related Link :: อาณาจักรโบราณแห่งแอฟริกา (ตอนที่ 1 : อาณาจักรนูเบีย)
Related Link :: อาณาจักรโบราณแห่งแอฟริกา (ตอนจบ : แหล่งอารยธรรมเบนิน)
ชนัดดา พรหมณ์มณี และกิติวรรณ ขันติไชยรัตน์
กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
กันยายน 2554
หากท่านใดต้องการเผยแพร่บทความหรือข้อมูลจากเว็บไซต์ เพื่อความรู้หรือประโยชน์ทางการศึกษา โปรดอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลให้ชัดเจน
และกรุณาแจ้งให้ทราบที่ » E-mail : sameaf.info@gmail.com